เมื่อความขัดแย้งระหว่างสถาบันเดินเข้ามาในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ประชาชนตกอยู่ในเส้นทางของความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว
ชีวิตไร้ความปลอดภัย…ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยสร้างความไม่ปลอดภัยให้คนอื่น!
23 มีนาคม 2568 เสียงกรีดร้อง วิ่งหนี และความโกลาหล เกิดขึ้นกลางศูนย์การค้า MBK Center ย่านปทุมวัน เมื่อกลุ่มนักศึกษาจากสองสถาบัน “อุเทนถวาย” และ “ปทุมวัน” ปะทะกันด้วยอาวุธมีดในชั้นศูนย์อาหารของห้างฯ หน้าผู้คนมากมายที่เพียงแค่มาจับจ่าย ใช้ชีวิตในวันปกติ
ผลลัพธ์คือผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 5 ราย ในจำนวนนี้มี 2 รายที่อาการสาหัสอยู่ในห้อง ICU ของโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนอีก 3 รายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ท่ามกลางข่าวลือเรื่องปืนที่แม้จะไม่ยืนยัน แต่ก็ยิ่งเพิ่มแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมที่แทบไม่ทันตั้งตัวกับ “ความตายที่เดินมาใกล้เกินไป” ชนิดที่เรียกว่า “ไม่ป่วย…ไม่เกิดอุบัติเหตุ” ก็มีสิทธิ์ “ตายได้” เพราะความบ้าระห่ำไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมของศึกสองสถาบันที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายทศวรรษ
เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็น “ของเก่าเล่าใหม่” ที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหน้าประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งระหว่างเด็กช่าง โดยเฉพาะระหว่างอุเทนถวายกับปทุมวัน…เป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังมาหลายสิบปี และดูเหมือนจะไม่มีใครสามารถตัดวงจรนี้ได้
หนีตายอลหม่านในพื้นที่ที่ควรปลอดภัย
วินาทีนั้น ห้างฯ ที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน กลับกลายเป็นลานประลอง มีคนตะโกน “มีดๆๆๆ วิ่งๆๆ” ก่อนที่ผู้คนจำนวนมากจะกรูกันหนี บางคนหลบในร้านค้า บางคนวิ่งลงบันไดเลื่อน บางคนถึงขั้นล้มกลิ้งกลางห้างฯ เพราะตกใจและหวาดกลัว
คลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ตามสื่อโซเชียล เผยให้เห็นภาพความโกลาหลแบบไม่เซนเซอร์ นี่ไม่ใช่แค่ความรุนแรงในหมู่ “วัยรุ่น” แต่มันคือพฤติกรรมที่ละเมิดต่อความปลอดภัยของสาธารณะ และสร้างบาดแผลในใจให้กับคนที่อยู่ในเหตุการณ์
เมื่อไหร่จะ “ย้ายอุเทนถวาย” ออกจากใจเมือง
หนึ่งในเสียงสะท้อนที่ดังขึ้นหลังเหตุการณ์คือ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ที่ออกมาโพสต์เรียกร้องให้ “ย้ายสถาบันอุเทนถวายออกจากใจกลางเมือง” เพราะไม่สามารถยอมรับได้ว่า พื้นที่ที่ประชาชนจำนวนมากใช้ชีวิตประจำวัน จะกลายเป็นสนามรบจากความขัดแย้งของคนกลุ่มหนึ่ง
“ขอท่านนายกฯ อิงค์ กรุณาลงนามคำสั่งย้ายอุเทนถวาย เถอะครับ มันจบทุกขั้นตอนแล้ว ก็ยังดื้อ ไม่ยอมไปสักที ชาวบ้านเดือดร้อน”
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพยายามขอคืนพื้นที่จากอุเทนถวายมาตั้งแต่ปี 2518 จนศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง
แต่นี่….ผ่านมาแล้วเกือบสามปี ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว
ศิษย์เก่าอุเทนถวายนำรุ่นน้องประท้วง เรียกร้องว่า จุฬาฯ ควรจะเห็นแก่ประโยชน์ทางการศึกษา
คุณคิดว่า อุเทนถวายอยู่กลางเมืองเป็นประโยชน์ทางการศึกษาหรือไม่?
นโยบายแก้ปัญหาจากรัฐมนตรี อว. และคำถามปลายเปิด
หลังเหตุการณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกมาตรการใหม่เพื่อแก้ปัญหา โดยเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันและการสร้างระบบเตือนภัย-ป้องกันล่วงหน้า ใครเป็นนักศึกษาปัจจุบันต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างรุนแรง
แต่นโยบายเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่? เมื่อความขัดแย้งฝังลึกระดับวัฒนธรรมย่อย และแพร่กระจายออกมาสู่พื้นที่สาธารณะอย่างไร้การควบคุม
“ก้าวย่างแห่งความตาย” ที่ไม่มีใครอยากเดินตาม
เหตุการณ์ตีกันกลางห้างฯ ครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการต่อสู้ระหว่างสองสถาบัน แต่คือภาพสะท้อนของความรุนแรงที่หลุดออกจากกรอบ และเดินทางมาถึงประชาชนธรรมดา—ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ต้องตกอยู่ในอันตราย
ในขณะที่คนบางกลุ่มยังยืนอยู่กับ “ก้าวย่างแห่งศักดิ์ศรี”
อีกหลายชีวิตวิตก…หวาดกลัวกับ “ก้าวย่างแห่งความตาย” ที่รออยู่ในห้างฯ ร้านอาหาร บนทางเดินเท้า หรือแม้แต่บนรถเมล์ ตามท้องถนน ฯลฯ
คำถามจึงไม่ได้มีแค่ว่า “ใครผิด?” และไม่ใช่แค่ย้ายสถานที่…แต่ต้องเปลี่ยนความคิดและความเชื่อผิด ๆ ที่ฝังหัวจนฝังรากลึกแห่งความรุนแรงให้ได้
ที่สำคัญคือ “จะหยุดมันได้อย่างไร ก่อนที่ใครสักคนจะไม่มีโอกาสก้าวย่างต่อไปอีกเลย?”