“นิตกรรมต้องดูที่สาระ ไม่ใช่แค่รูปแบบ ถ้าเป็นผม ผมไม่ยกมือให้ เพราะนี่คือนิติกรรมที่ผิดปกติ”
ใกล้ถึงปลายทางแล้วสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก หลังรัฐบาลแพทองธาร บริหารราชการแผ่นดินมา 6 เดือนเศษ ซึ่งแม้จะพอเดาได้ว่าผลลัพธ์น่าจะจบที่เสียงข้างมากสนับสนุน แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ต่อไป แต่ประเด็นที่ถูกเปิดในศึกซักฟอกครั้งนี้ ได้จุดชนวนคำถามในสังคมเกี่ยวกับิ ”คุณธรรม ความโปร่งใส และมรดกทางการเมือง“ ที่ยังคลุมเครือ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” โดยวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาว่า ฝ่ายค้านสอบผ่าน นายกฯ สอบตกประเด็นนิติกรรมอำพราง และจะมีผลทางกฎหมายตามมาหลังจากนี้ ทั้งกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ และชั้น 14 ทักษิณ ชินวัตร
PN ที่ไม่มีวันครบกำหนด…การกู้ยืมที่อาจเป็นการให้
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ชี้ว่า มีสองคนที่อภิปรายเข้าเป้าคือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ปม “นิติกรรมอำพราง” ใช้ตั๋ว PN (Promissory Note-PN) เลี่ยงภาษีการรับให้ ที่ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของ ตั๋ว PN ที่ไม่มีการระบุระยะเวลาการชำระหนี้ และดอกเบี้ย ซึ่งนายกฯ หักล้างว่า ตั๋ว PN เป็นการกู้ยืมเงินจริง ๆ และตั้งใจจะเริ่มชำระเงินในปีหน้า เป็นการแสดงเจตนาครั้งแรกกลางสภาฯ ว่าจะมีการชำระเงินส่วนนี้ หลังผ่านไปถึง 9 ปี ก็ต้องอยู่ที่ดุลพินิจคนฟังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะคงมีการยื่นให้ตรวจสอบกันต่อ
”ถ้าเอกสารกู้ยืมเงินไม่มีกำหนดเวลาคืน ไม่มีดอกเบี้ย ก็ชวนคิดว่านี่ไม่ใช่การกู้แต่คือการให้“ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ตั้งคำถามถึงเจตนาของนิติกรรม ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการพิจารณาว่าทำผิดกฎหมายและจริยธรรมหรือไม่ พร้อมเตือนว่า ”ถ้ายึดเพียงรูปแบบปัญหาที่จะตามมาคือ ต่อไปนี้จะมีคนให้อะไรใคร ก็จะใช้วิธีนี้เพื่อหลบเลี่ยงภาษีการรับให้ จึงต้องตรวจสอบต่อว่าเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เจตนาในการทำนิติกรรมนี้เป็นการให้หรือกู้ยืมกันแน่ ในแง่ของคุณธรรม จริยธรรมก็ต้องดูมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่?“
จากพ่อถึงลูก วังวนมรดกการเมือง
เมื่อถูกถามถึง “ความรู้สึกแดจาวู” ระหว่างปมภาษีลูกสาวกับพ่อ (ทักษิณ ชินวัตร) ในอดีต คิดอย่างไร? อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ถึงกับหัวเราะก่อนจะกล่าวว่า “เหมือนเราถอยหลังไป 24 ปีแต่ต้องไม่ลืมว่ามรดกมีทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน” เขาย้อนถึงกรณีที่ดินอัลไพน์ ซึ่งเกี่ยวพันกับบิดานายกฯ เป็นมรดกตกทอดมาที่ นายกฯ ถือหุ้น เป็นกรรมการบริษัทฯ รับรู้ปัญหาที่ดินแปลงนี้ แม้จะมีการโอนหัุ้นให้มารดาช่วงรับตำแหน่งนายกฯ ก็ตาม แม้แต่เรื่องชั้น 14 ก็เกี่ยวกันพับบิดานายกฯ ที่พยายามหาช่องทางใช้สิทธิ์รักษาตัวที่ รพ.ตร. แม้แต่คำชี้แจงที่เหมือนกันในทำนอง “ฉันเสียภาษีมากกว่าพวกเธอ” ก็อาจเป็นมรดกส่วนหนึ่ง (หัวเราะ)
ชั้น 14 กับเส้นเวลาสะท้อน “นายกฯ ช่วยพ่อ?”
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการอภิปรายของรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่อภิปรายได้เข้าเป้า ปมชั้น 14 โดยสามารถเชื่อมโยงให้เห็นว่า “นายกฯ” เกี่ยวข้องตลอดตั้งแต่การขอพระราชทานอภัยโทษ การพักโทษ แม้กระทั่งการพ้นโทษ ชี้ให้เห็นว่ามีการผิดอาญา โดยมีนายกฯ เป็นตัวการในการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ลำดับเหตุการณ์ที่ชัดเจนถึงความย้อนแย้งของคำชี้แจง เชื่อมโยงกับกฎระเบียบ การส่งตัวไปโรงพยาบาล การพักโทษ
”เป็นการอภิปรายที่ถึงตัวนายกฯ ฝ่ายรัฐบาลพยายามบอกทั้งหมดเกิดก่อนเป็นนายกฯ แต่รังสิมันต์บอกว่าเป็นความผิดที่นายกฯ รับรู้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องมาโดยตลอด เมื่อมีอำนาจก็มีหน้าที่สะสาง แรงกดดันจะเกิดต่อจากนี้ว่า นายกฯ ทำอะไรหรือไม่ และอยู่ในฐานะที่ต้องชี้แจงด้วย เพราะรังสิมันต์ ชี้ให้เห็นว่านายกฯ เกี่ยวข้องกับแต่ละช่วงของเหตุการณ์อย่างไร ตั้งแต่การขอพระราชทานอภัยโทษ การพักโทษ หรือแม้กระทั่งพ้นการพักโทษแล้ว และยังมีเรื่องทรัะพย์สินที่ต้องตรวจสอบจากกรณีตั๋ว PN รวมถึงสนามกอล์ฟอัลไพน์ ก็ยังต้องติดตามว่าหลังมีการเพิกถอนที่ดินแล้วจะชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร ให้ใคร ด้วยหลักเกณฑ์อะไร เพราะการชดใช้ค่าเสียหายต้องให้กับคนที่ได้สิทธิ์มาโดยสุจริตเท่านั้น”
ฝ่ายค้านสอบผ่านศึกซักฟอก แม้ยังไม่มีข้อมูลใหม่
ส่วนบรรยากาศในสภาฯ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ถือว่าราบรื่นดี รวมถึงการรักษาเวลา แม้จะมีการประท้วง หรือมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงอยู่ ก็เป็นธรรมดาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของประธานในที่ประชุมสำหรับรองประธานฯ สองคนก็ทำหน้าที่ได้ดี แต่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ อาจถูกตั้งคำถามมากหน่อยเพราะตัดเกมผู้อภิปรายบ่อย โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วง สำหรับฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนก็ถือว่าสอบผ่านในการทำหน้าที่ แม้จะยังไม่มีข้อมูลใหม่ในการอภิปรายก็ตาม และคงไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จขนาดที่ว่า แม้รัฐบาลจะชนะในสภาฯ แต่จะถูกกระแสสังคมกดดันให้ออก
จับตา 4 สส.ปชป. ยึดมติพรรคหรือแสดงจุดยืนที่แตกต่าง
สำหรับการลงมติในส่วนของ 4 สส.พรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สามอดีตหัวหน้าพรรค และ สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา ซึ่งไม่โหวตเลือก แพทองธารเป็นนายกฯนั้น อภิสิทธิ์ บอกไม่ขอคาดเดาว่าครั้งนี้จะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครอยู่พรรคไหน “ถ้ามติพรรคออกมาสวนกับความรู้สึกของตัวเองก็ต้องตัดสินใจว่าจะปฏิบัติไปตามมติพรรคทั้งที่ฝืนกับความเชื่อ ความรู้สึกของตัวเอง หรือจะใช้เอกสิทธิ์ แต่ต้องยอมรับกระบวนการที่จะตามมา ไม่ว่าจะถูกพรรคลงโทษในรูปแบบใดก็ตาม อยู่ที่การชั่งใจของผู้ที่อยู่ในสถานะนั้น แต่ตอนนี้ไม่มีโอกาสได้พูดคุยก็เลยไม่รู้ว่าแต่ละท่านคิดอย่างไรกับการอภิปรายฯ ครั้งนี้ ที่ผ่านมาอาจมีการใช้วิธีงดออกเสียง หรือไม่อยู่ในห้องประชุม กรณีไม่เห็นด้วยกับมติพรรค ซึ่งพรรคก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร แต่ถ้าใช้วิธีนี้แล้วพรรคมีมาตรการลงโทษ คนที่ทำก็ต้องยอมรับกับการตัดสินใจของตัวเอง”
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ยังสะท้อนประสบการณ์ตรงว่า เมื่อมติพรรคไม่ตรงกับอุดมการณ์ ความเชื่อของตนเอง เขาเลือก “ลาออกจาก สส.” และต่อมาก็ “ลาออกจากพรรค” เพราะไม่ต้องการอยู่ในสถานกาณณ์ที่ฝืนความเชื่อของตนเอง “เมื่อถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่างพรรคกับความเชื่อ ไม่ว่าตัดสินใจอย่างไร ผู้ตัดสินใจต้องยอมรับผลลัพธ์นั้น”
เสียงจากผู้นำ…ที่ฟังแล้วไม่เหมือนผู้นำ
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ประเมินคำชี้แจงของ “แพทองธาร” ในสภาฯ ว่า “เอาตัวรอดได้” เพราะความคาดหวังสังคมต่ำ ทำให้ผ่านง่าย “การเมืองไทยประหลาดอย่างหนึ่ง คนมองว่านายกฯ ไม่มีประสบการณ์ ก็เลยคาดหวังต่ำ ผลก็คือผ่านง่าย” เขาย้ำว่า การตอบของแพทองธารไม่มีน้ำหนักในแง่ผู้นำ ไม่มีรายะเอียด ไม่มีแนวทางบริหารที่ชัดเจน ให้รัฐมนตรีตอบแทน “เราไม่ได้ฟังนายกฯ ชี้แจงแบบเดียวกับที่ รมต. ชี้แจงบางเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เรื่องนั้น ๆ นายกฯ ได้ติดตามปัญหาและมีความคิดความอ่านอย่างไร อย่างชัดเจน”
หลังอภิปราย…ยังมีคำถามที่รอคำตอบ
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ยังวิเคราะห์การเมืองหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า น่าจะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร เนื่องจากเป็นการอภิปรายฯ นายกฯ คนเดียว เงื่อนไขการปรับครม.อาจไม่มีมากนัก เว้นแต่จะมีการปรับ ครม. ในเชิงกลยุทธ์ แต่จะเป็นจุดเริ่มของการตรวจสอบ ทั้งกรณีตั๋ว PN สนามกอล์ฟอัลไพน์ ชั้น 14 ส่วนประชาชนก็ได้เห็นข้อมูลมากขึ้น แม้จะไม่ถึงขั้นลุกขึ้นมาไล่รัฐบาลก็ตาม
ผลโหวตเป็นเพียงตัวเลข แต่เนื้อหาที่ปรากฏในสภาฯ คือบทบันทึกความจริงที่สังคมจะจดจำ และอาจกลายเป็นหัวเชื้อสำหรับการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า