ใครควบคุมกองทัพ? ใครปล่อยไอโอทำงานลับในยุครัฐบาลพลเรือน? เป็นคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในวันที่สองของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร
กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อ “ไอโอทหาร” ถูกขุดขึ้นอีกครั้ง—แต่ไม่ใช่ในบริบทเดิม
เพราะคราวนี้ ไอโอไม่ได้โจมตีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล…
แต่ย้อนศรใส่ พ่อของนายกรัฐมนตรี เอง…
แม้แต่…ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม ยังอึ้ง บอก “เป็นข้อมูลใหม่” ไม่ได้บอกว่า “ไม่เป็นความจริง” ตามคำพูดติดปากรัฐบาล
ไอโอ: จาก “ยุค คสช.” สู่ “ยุคแพทองธาร”
ชยพล สท้อนดี ส.ส.กทม. พรรคประชาชน
อภิปรายด้วยข้อมูลลับระดับ “เอกสารลับที่สุด” ที่อ้างว่ามาจากทหารและตำรวจ “ผู้รักประชาธิปไตย”
เขาเปิดแผนปฏิบัติการไอโอที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้ง 2566
และทั้งหมดเกิดขึ้น…ในยุคที่นายกฯ ชื่อ “แพทองธาร” ไม่ใช่ “ประยุทธ์”
ข้อมูลลับเชิงลึกถูกเปิดเผยจนประท้วงกันวุ่น ถึงขั้นในตอนท้าย พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประชุมในขณะนั้น ตัดบทห้ามอภิปราย ไปดูกันหน่อยข้อมูลเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
- อินฟลูฯ ในเครื่องแบบ 131 ราย จากเอกสารของศูนย์ปฏิบัติการร่วมฯ พร้อมชื่อบัญชี TikTok / Facebook / X / IG โดยระบุยอดผู้ติดตาม–ยอดไลก์ชัดเจน
- เอกสารสั่งการให้โจมตี HVT (High Value Targets)
หรือบุคคลสำคัญที่กระทบ “สถาบันฯ”
- แผน IRC (Information Related Capabilities)
ที่ไม่เพียงวิเคราะห์ภัยคุกคามจากต่างประเทศ
แต่รวมถึง “นักวิชาการ–ประชาชน” ที่เห็นต่าง
รัฐบาลพลเรือน…แต่กองทัพยังเหนือรัฐบาล
ชยพล ซัดว่า โครงสร้างบัญชาการของไอโอวันนี้
สะท้อนภาพของ “รัฐซ้อนรัฐ”
คือกองทัพที่ไม่ได้อยู่ใต้รัฐบาล
แต่ทำงานคู่ขนานอย่างไร้การควบคุม
“ขบวนการไอโอในยุค คสช. ไม่ได้หายไป
กลับเติบโตขึ้นอย่างน่ากลัว…ในยุคแพทองธาร”
“ดีลปีศาจ” แลกอำนาจกับการนิ่งเฉย?
ฝ่ายค้านตั้งข้อสงสัยว่า การได้อำนาจทางการเมืองของตระกูลชินวัตร
แลกมาด้วย “เงื่อนไข” ที่ให้กองทัพอยู่นอกการควบคุมของพลเรือนหรือไม่?
“เมื่อเป็นนายกฯ พลเรือน กลไกไอโอควรถูกยุติ
แต่กลับเดินหน้าต่อ แถมมีเป้าใหม่เป็น…พ่อของนายกฯ และคนในรัฐบาล ไม่เว้นแม้กระทั่งนายกฯ เอง”
เอกสารระบุชัด…ใครคือภัยคุกคาม
สิ่งที่ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นไฟลามทุ่งในสภา
คือการเนื้อหาเอกสารของ กอ.รมน. ซึ่งนายกรัฐมนตรีแพทองธาร เป็นผู้อำนวยการโดยตำแหน่ง ที่ฝ่ายค้านอ้างอิงถึง “กลุ่มแสวงหาประโยชน์โดยแอบอ้างสถาบัน” คือ ทักษิณ ชินวัตร / ธรรมนัส พรหมเผ่า / อนุทิน ชาญวีรกูล
“สุดท้าย แม้แต่พ่อของนายกฯ ก็ไม่รอดจากการถูกไอโอป้ายสี”
– ชยพล สท้อนดี
ข้อถกเถียงในสภาฯ ร้อนขึ้น
เมื่อการอภิปรายโยงไปถึงการแอบอ้าง “สถาบันฯ”
เป็นเกราะป้องกันให้กองทัพไม่ถูกตรวจสอบ
“ใครก็ตามที่ตรวจสอบกองทัพ
กลายเป็นว่า ‘ไม่จงรักภักดี’ ทั้งที่ความจงรักภักดี…ไม่ใช่ของผูกขาด”
ทำเอาประท้วงวุ่น จนการอภิปรายแทบดำเนินต่อไม่ได้
ปิดฉากไอโอ-เปิดฉากตรวจสอบ
“นายกฯ ยอมปล่อยให้ไอโอทำงานภายใต้ชื่อรัฐบาลพลเรือนหรือไม่?”
“ใครควรควบคุมกองทัพ—ประชาชน หรือเงามืดในระบบราชการ?”
และสุดท้าย…ที่สำคัญกว่าคำกล่าวหาคือ “ความจริง”
แม้เนื้อหาการอภิปรายจะร้อนแรง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความดุเด็ดเผ็ดมันคือ…ข้อมูลต้องเป็นจริงตรวจสอบได้
เรื่อง “ไอโอกองทัพ” ไม่ใช่แค่ประเด็นการเมือง แต่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ
เอกสารที่ “ชยพล สท้อนดี” ใช้อภิปราย ถูก “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ ตั้งคำถามกลางที่ประชุมว่า “เป็นแค่เอกสารตัดแปะหรือไม่?”
การเปิดโปง…ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ
เรื่องที่ฝ่ายค้านต้องตอบ…ไม่ต่างจากรัฐบาล
คำถามจากการเปิดประเด็นใหม่นี้จึงไม่ได้มีไปถึงแค่รัฐบาล
แต่รวมถึงผู้อภิปรายด้วยว่า…เอกสารเหล่านั้นเป็นของจริงหรือไม่? หากไม่จริงจะรับผิดชอบอย่างไร? หากจริงการตรวจสอบหลังจากนี้จะเป็นแบบไหน?
ขณะที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่า ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง…จัดจัดการกับไอโอที่ไม่ได้ปั่นเพื่อชาติ แต่อาจปั่นเพื่อจุดประสงค์บางอย่างของใครในเงามืดอย่างไร?
นั่นคือหน้าที่รัฐบาล…ส่วนฝ่ายค้าน ก็ต้องเข้าใจว่า
การตรวจสอบคือ…คุณสมบัติของผู้แทน
เปิดโปงคือหน้าที่…
มีความรับผิดชอบจึงจะเป็น สส.ที่ดี