วันที่ 26 มีนาคม 2568 – ข่าวการจับกุมตัวการสำคัญในขบวนการทุจริตยาโรงพยาบาลทหารผ่านศึก สร้างความสนใจจากสังคมได้ไม่น้อย เพราะเป็นขบวนการทำงานอย่างแยบยล กินกันเป็นระบบ ก่อนตายยกรัง
ต้นทางที่ทำให้เกิดการสืบจนถึงต้นตอ เกิดจากความกล้าหาญของ “ก้อย” – นางสาวพัชนีย์ หญิงธรรมดาที่กล้าลุกขึ้นเปิดโปงขบวนการทุจริตมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท
เมื่อคดีจบลงที่การจับกุม น้ำตาแห่งความภาคภูมิใจก็เอ่อล้นออกมาโดยไม่รู้ตัว เธอพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า…
“ไม่ได้อยากดัง…แค่อยากให้ลูกภูมิใจ”
21 เดือน 24 วัน : เส้นทางนักเปิดโปง
ก้อยไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้มีอำนาจ ไม่ได้มีอิทธิพล
เธอคือพลเมืองธรรมดาที่เฝ้าสังเกตความผิดปกติจากเครือข่ายแม่ทีมในจังหวัดลพบุรี ก่อนตัดสินใจเก็บหลักฐาน ต่อสู้ และส่งต่อข้อมูลสำคัญถึงตำรวจ
หลักฐานที่ก้อยส่งมา คือจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการใหญ่ “สยบนาคี ล้างบางเส้นทางยาเถื่อน” ที่ตำรวจ ป.ป.ป. ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. สนธิกำลังร่วมกันตรวจค้นเป้าหมาย 18 จุด และนำไปสู่การจับกุม พ.อ.หญิง และแพทย์หญิง – ตัวการสำคัญที่อยู่เบื้องหลังขบวนการทุจริตยาข้ามปี
“วันนี้พี่ทำได้จริง…เอาหลักฐานหนูไปต่อยอด” ก้อยบอกกับ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ด้วยเสียงสะอื้น ก่อนสวมกอดแน่นด้วยความโล่งใจ
“ทุกอย่างที่ทำ…ก็เพื่อให้ลูกเห็นว่าแม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง”
ขบวนการทุจริตยา…แผนประทุษกรรมที่ซับซ้อน
ขบวนการนี้เริ่มต้นจาก พ.อ.หญิง วัย 59 ปี เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้นำขบวนการ ร่วมมือกับ พญ. วัย 48 ปี แพทย์ประจำ รพ.ทหารผ่านศึก สั่งจ่ายยานอกบัญชีจำนวนมหาศาลแก่ผู้ป่วยปลอมที่ถูกแม่ข่ายชักชวนเข้าระบบเบิกยา ผ่านสิทธิข้าราชการกรมบัญชีกลาง
ยาที่ถูกเบิกมาจะถูกส่งไปเก็บในคอนโดฯ ย่านพระราม 4 ก่อนถูกกระจายสู่ร้านขายยา 11 แห่งในกรุงเทพฯ เส้นทางการเงินเผย พ.อ.หญิงรับโอนเงินจากเครือข่ายกว่า 40 ล้านบาท และรับส่วนแบ่ง 10-15% ต่อบิล ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีการสั่งจ่ายยากว่า 3.6 ล้านเม็ด ดูแลคนไข้ปลอมกว่า 2,600 คน – มากกว่าแพทย์คนอื่นในโรงพยาบาลหลายเท่า
ระบบเลือกจะไม่เห็น หรือระบบถูกออกแบบให้มองไม่เห็น?
หนึ่งในข้อมูลที่สะท้อนความผิดปกติอย่างชัดเจนคือ
แพทย์หญิงคนเดียวสามารถสั่งจ่ายยาคิดเป็น 28.72% ของแพทย์ทั้งโรงพยาบาลกว่า 100 คน ในช่วงปี 2560–2567
ตัวเลขนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่สะสมมานานนับปีโดยไม่มีใครตั้งคำถาม
ไม่มีระบบตรวจสอบภายในของโรงพยาบาล?
ไม่มีระบบจับสัญญาณผิดปกติจากกรมบัญชีกลาง?
ไม่มีใครสงสัยเมื่อผู้ป่วยซ้ำชื่อ หรือมียานอกบัญชีหลั่งไหลเข้าโรงพยาบาลแบบผิดธรรมชาติ?
หรือแท้จริง…ระบบทั้งหมดนี้ถูกออกแบบมาให้ “มองไม่เห็น” หรือ “เลือกที่จะไม่เห็น” สิ่งที่ควรถูกตรวจสอบ?
คำถามที่ควรถามต่อคือ
โรงพยาบาลทหารผ่านศึกเป็นแค่กรณีเดียว…หรือเป็นภาพสะท้อนของโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั้งประเทศ?
ถ้าไม่มีใครกล้าเปิดโปง เราอาจไม่มีวันรู้ว่าความเงียบที่ครอบคลุมอยู่ทุกวันนี้
มีราคาที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่เท่าไหร่
หญิงธรรมดา กับ “ระบบ” ที่ไม่ธรรมดา
สิ่งที่ก้อยทำ ไม่ได้แค่ช่วยให้เกิดการจับกุม
แต่ทำให้สังคมมองเห็นว่า…แม้ระบบราชการจะซับซ้อน แม้เส้นสายจะเชื่อมกันเป็นใยแมงมุม หากมีคนกล้าลุกขึ้นมาเปิดโปง – ความจริงก็ยังมีทางเดินของมันเอง โดยไม่ติดกับดักใยแมงมุม
ความหวัง…จากการกล้าลุกขึ้นสู้
แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย รวมถึง พ.อ.หญิง และ พญ. จะได้รับการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน แต่ตำรวจยืนยันว่า การขยายผลยังไม่จบ และจะนำตัวผู้ร่วมขบวนการที่เหลือมาดำเนินคดีให้ได้
ด้านอธิบดีกรมบัญชีกลางยอมรับถึงช่องโหว่ในระบบเบิกยา ที่เปิดช่องให้ขบวนการนี้แสวงหาผลประโยชน์มานานนับปี และสัญญาว่าจะเพิ่มมาตรการตรวจสอบ เพื่อปิดประตูทุจริตในอนาคต
บทเรียนจากคดีนี้ อาจไม่ใช่แค่เรื่องยา…
แต่มันคือคำถามถึง “ระบบราชการ” ที่ประชาชนต้องร่วมกันตรวจสอบ
และคือบทพิสูจน์ว่า แม้เราเป็นแค่คนธรรมดา…
แต่ถ้าเรากล้าที่จะเปิดโปง…เราก็ปิดเกมการทุจริตได้เหมือนกัน