นับไม่ถึง 72 ชั่วโมงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ถึงท่าทีมุ่งมั่นผิดปกติต่อการผลักดันนโยบายกาสิโน ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติ “ร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจร” ซึ่งมี “กาสิโน” เป็นแกนกลาง พร้อมเร่งให้ทันวาระการประชุมสภาในเดือนเมษายนนี้ แม้ต้องเบียดแซงกฎหมายสำคัญฉบับอื่น
พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้โพสต์ตั้งคำถามถึงความเร่งรีบที่ผิดสังเกตของรัฐบาล ตั้ง “9 ข้อสังเกต” ที่สะท้อนความเสี่ยงและความไม่โปร่งใส ทั้งในเชิงหลักการ เนื้อหา และกระบวนการทางนโยบาย
- ใช้คำว่า “สถานบันเทิงครบวงจร” บังหน้า ทั้งที่กาสิโนคือหัวใจ
แม้นายกฯ จะย้ำว่าสัดส่วนพื้นที่กาสิโนจะไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ร่างกฎหมายกลับกำหนดให้ “สถานบันเทิงครบวงจร” ต้องมีกาสิโนอยู่ด้วยเสมอ ไม่สามารถขาดได้ และจากประสบการณ์ของต่างประเทศ รายได้ส่วนใหญ่ล้วนมาจากกิจกรรมกาสิโน
- สับสนเรื่องเป้าหมาย – ไม่มีรายงานรองรับ
รัฐบาลให้ข้อมูลสับสน ทั้งเรื่องเป้าหมายผู้เล่น (คนไทยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ) และจุดประสงค์ของนโยบาย (ควบคุมการพนันผิดกฎหมายหรือไม่) โดยไม่มีรายงานการศึกษาอย่างละเอียดมารองรับ
- ประเมินผลกระทบจีนไม่รอบด้าน
พริษฐ์เตือนว่าการเดินหน้าอย่างรวดเร็วโดยไม่ประเมินท่าทีของจีน อาจกระทบต่อนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นถึง 20% ของรายได้ท่องเที่ยวไทย ขณะที่รัฐบาลจีนเริ่มเข้มงวดกับพลเมืองของตนที่เดินทางไปเล่นพนันในต่างประเทศ
- มอบอำนาจมากเกินให้ “Super Board” โดยไม่มีการตรวจสอบ
ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายที่นายกฯ เป็นผู้แต่งตั้งเป็นหลัก ตัดสินใจในหลายประเด็นสำคัญโดยไม่มีการกำกับจากสภา เช่น จำนวนกาสิโน มาตรการป้องกันผลกระทบ หรือข้อกำหนดเรื่องการจ้างงานคนไทย
- จำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ร่าง ครม. ลดขอบเขตการทำประชาพิจารณ์ เหลือเพียง “ประชาชนในพื้นที่” ทั้งที่ร่างเดิมเคยระบุให้รวม “พื้นที่ใกล้เคียง” และใช้ช่องทางออนไลน์ ซึ่งสะท้อนความตั้งใจเลี่ยงการรับฟังความคิดเห็นที่ครอบคลุม
- มีดีลแลกเปลี่ยนในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่?
แม้พรรคภูมิใจไทยเคยคัดค้านกฎหมายกาสิโน แต่กลับร่วมอนุมัติหลักการใน ครม. โดยไม่มีการแก้ไขสาระสำคัญที่เคยคัดค้าน ขณะเดียวกัน กลับมีร่างแก้ไข พ.ร.บ. การพนันที่เปิดทางให้กระทรวงมหาดไทยสามารถออกใบอนุญาต “พนันออนไลน์” ได้สะดวกยิ่งขึ้น จนสังคมตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการ “แลกเปลี่ยน” ระหว่างสองเรื่องนี้
- ไม่มีแผนควบคุมหรือแก้ปัญหาการพนันควบคู่
รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ. กาสิโนโดยไม่มีแผนควบคุมหรือแนวทางเยียวยาปัญหาการพนัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกฎหมายควบคู่ หรือมาตรการเชิงป้องกัน
- ละเลยการจัดการปัญหาคอร์รัปชันและฟอกเงิน
กาสิโนเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการฟอกเงินและคอร์รัปชัน แต่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการรองรับอย่างชัดเจน ทั้งที่ประเทศไทยมีระดับความโปร่งใสต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี และยังไม่มีความคืบหน้าในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ
- ลัดคิวกฎหมายสำคัญฉบับอื่น
รัฐบาลเลือกผลักดันร่างกฎหมายกาสิโนแซงหน้าร่างกฎหมายสำคัญที่รอการพิจารณา เช่น กฎหมายความปลอดภัยโรงงาน / แก้ทุนผูกขาด / ยกเลิกเกณฑ์ทหาร หรือกฎหมายเปิดเผยข้อมูลรัฐ ทำให้เกิดคำถามว่ากาสิโนคือ “วาระเร่งด่วนของประเทศ” จริงหรือไม่
“นโยบายกาสิโนไม่เคยอยู่ในสัญญาประชาคมช่วงหาเสียง แต่กลับกลายเป็นนโยบายที่รัฐบาลเร่งผลักดันที่สุด ทั้งที่ยังเต็มไปด้วยคำถามและความเสี่ยง” พริษฐ์ทิ้งท้าย พร้อมชวนประชาชนตั้งคำถามว่า “รัฐบาลกำลังเอาอะไรไปแลกกับความเร่งรัดครั้งนี้?”