เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการตามแถลงการณ์ของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ารัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น โดยมีทั้งมาตรการด้านการเงิน การประกันภัย และการสนับสนุนผ่านธนาคารของรัฐอย่างครอบคลุม
ขยายวงเงินทดรองราชการช่วยผู้ประสบภัย 200 ล้านบาท
กรมบัญชีกลางได้ขยายวงเงินทดรองราชการจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัด ครอบคลุมทั้งการดำรงชีพและการสนับสนุนด้านปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่
สถาบันการเงินเฉพาะกิจ อัดมาตรการพักหนี้–เติมทุน
กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารของรัฐ 8 แห่ง ได้ออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเข้มข้น ได้แก่
- ธนาคารออมสิน พักหนี้ 3 เดือน ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% พร้อมสินเชื่อฉุกเฉินและกู้ฟื้นฟูวงเงินสูงสุด 20,000 บาท
- ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินไม่เกิน 50,000 บาท และสินเชื่อซ่อมแซม-ฟื้นฟูวงเงินสูงสุด 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ
- ธอส. พักชำระหนี้ 3 เดือนแรก พร้อมลดเงินงวด 50% และเปิดให้กู้ใหม่เพื่อซ่อมแซมหรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้สูงสุด 2 ล้านบาท
- ธพว. พักชำระหนี้เงินต้น–ดอกเบี้ยนาน 12 เดือน และปล่อยสินเชื่อเติมทุนฉุกเฉินสูงสุด 200,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน
- ธอท. เสนอสินเชื่อซ่อมบ้าน–ฟื้นฟูกิจการสูงสุด 5 ล้านบาท คิดอัตรากำไรต่ำสุด 1.99% ในปีแรก
- ธสน. เพิ่มวงเงินหมุนเวียน–ขยายเวลาชำระหนี้ พร้อมแปลงหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว
- บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันและค่างวด 3-6 เดือน
- ธนาคารกรุงไทย ลดค่างวด 75% เป็นเวลา 1 ปี พร้อมออกสินเชื่อซ่อมบ้านและฟื้นฟูกิจการดอกเบี้ยต่ำ
คปภ. ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัย เร่งจ่ายสินไหม–ตรวจฐานะบริษัทประกัน
สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับบริษัทประกัน 4 แห่ง ตั้งศูนย์ช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเร่งค้นหาผู้สูญหายผ่านฐานข้อมูลกรมธรรม์ และดำเนินการจ่ายสินไหมเร่งด่วน โดยยืนยันว่าบริษัทประกันมีประกันภัยต่อจากต่างประเทศ ไม่กระทบฐานะทางการเงิน
นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับสมาคมประกันชีวิตและประกันวินาศภัย เพื่อเร่งติดตามความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมให้ถูกต้อง รวดเร็ว พร้อมเปิดสายด่วน คปภ. 1186 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ธปท. ผ่อนเกณฑ์สถาบันการเงิน–ช่วยลูกหนี้ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินทุกประเภท ปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต อนุมัติวงเงินฉุกเฉิน ปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ต้องใช้เกณฑ์เดิม และคงสถานะลูกหนี้ให้ไม่กลายเป็นหนี้เสีย เพื่อไม่ให้ประชาชนและธุรกิจต้องเผชิญกับภาระทางการเงินเกินควร
รัฐบาลย้ำ “เศรษฐกิจไทยยังมั่นคง–พร้อมดูแลทุกกลุ่ม”
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวย้ำว่า นายพิชัย ชุณหวชิร ได้เน้นย้ำถึงความเข้มแข็งและเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย พร้อมยืนยันว่าทุกหน่วยงานของรัฐจะดำเนินการอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพในการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง