“ถ้าแบบถูกต้อง…วัสดุได้มาตรฐาน ทำไมตึกถึงถล่มแบบนี้?” เป็นคำถามชวนคิดจาก ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ที่วิเคราะห์สาเหตุการถล่มของตึก กับ The Publisher โดยเล่าว่า จากภาพกล้องวงจรปิดชี้ชัดว่ามีสี่จุดที่พังทลายเป็นจุดแรก ๆ คือบริเวณเสาชั้นล่างขาดและระเบิดออกมา อาคารหลังนี้เสาชั้นล่างสูงชะลูด จุดที่สองเสาชั้นบนสุดก็สูงชะลูดก็หักลงมาเหมือนกัน ส่วนจุดที่สาม เราเห็นจากภาพวิดีโอว่ามีการขาดระหว่างพื้นกับเสาเป็นชั้น ๆ ที่เรียกว่าเป็นลักษณะ pancake collapse คือมีการยุบตัวของอาคารแบบแผ่นเค้ก หรือการล้มเป็นชั้น ๆ ซ้อนทับกัน ที่สำคัญคือจุดสุดท้ายเพราะเป็นคลิปวิดีโอจากด้านหลัง เป็นการพังทลายของปล่องลิฟต์อาคาร บริเวณนี้น่าสงสัยที่สุดว่าพังได้อย่างไร ปล่องลิฟต์ควรเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงที่สุดในอาคารหลังนี้ แต่ดูเหมือนว่าพังไปก่อน
“เป็นสี่จุดที่เห็นจากวิดีโอเป็นจุดตั้งต้นในการสืบสวนเชิงลึก เพราะไม่ว่าจุดไหนจะเป็นจุดเริ่มต้นล้วนแต่ทำให้อาคารทั้งหลังถล่มลงมาได้ เนื่องจากมีลักษณะเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์”
ถามกลับแรง ๆ : ออกแบบรองรับแผ่นดินไหว…ทำไมถล่ม?
อาคารหลังนี้ออกแบบและเริ่มก่อสร้างปี 2562 หลังมีกฎกระทรวงบังคับรองรับแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2550 “คำถามคือ ทำไมอาคารที่ออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหวถึงพังถล่มแบบนี้ หลักการออกแบบถ้าอาคารจะแตกร้าวเสียหายบ้าง เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ถ้าออกแบบมาถูกต้องเราไม่ควรเห็นการพังถล่มราบคาดขนาดนี้ จึงตั้งข้อสังเกตว่า ออกแบบถูกต้องหรือไม่? ถ้าแบบถูกต้องการก่อสร้างทำตามแบบหรือไม่? วัสดุที่นำมาใช้ก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต เหล็กเสริม หรือตัวต่อเหล็กได้คุณภาพหรือเปล่า? การที่อาคารถล่มแบบนั้นก็ตั้งข้อสงสัยได้ทุกข้อเลย”
สวย โปร่ง แต่เสี่ยง : เสาสูง = จุดอ่อนโครงสร้าง?
อาคารนี้มีลักษณะที่เรียกว่าความไม่ปกติในรูปทรงอาคาร รูปแบบเสาสูงเรียกว่า ชั้นอ่อน (Soft Story) คือเป็นลักษณะที่อาคารชั้นหนึ่งชั้นใดมีความแข็งแรงน้อยกว่าชั้นอื่น นอกจากนี้ตัว “ผนังปล่องลิฟต์” (Lift Shaft Wall หรือ Elevator Shaft Wall) ก็เยื้องไปทางด้านหลังของอาคาร แต่อาคารอื่นก็มีลักษณะแบบนี้เหมือนกัน “เสายาวปิดปกติ อาจดูโปร่งโล่งสวยงาม แต่นั่นคือ “ชั้นอ่อน” ที่เสี่ยงพังทลาย”
เหล็กก็ต้องสอบ : ถ้าไม่ได้มาตรฐาน…ปัญหาอาจไม่หยุดที่ตึกเดียว
การตรวจสอบเหล็กกลายเป็นประเด็นสำคัญที่พูดกันมากในแวดวงวิศวกรรม เพราะถ้าปัญหาอยู่ที่เหล็ก ต้องขยายผลไปดูอาคารอื่นที่กำลังก่อสร้างทันทีว่าใช้วัสดุเดียวกันหรือไม่ ความเสี่ยงจะลามเป็นลูกโซ่ การตรวจสอบจึงไม่ควรหยุดเฉพาะอาคารที่ถล่ม” อาคารสูงต้องมีหลักประกันความปลอดภัยให้กับคนที่ใช้อาคาร เป็นเรื่องใหญ่”
7 วันสอบจบ ”ไม่มีทาง-ไม่น่าเชื่อถือ”
ส่วนกรณีกระทรวงมหาดไทยวางกรอบเวลาตรวจสอบจบภายใน 7 วัน ศ.ดร.อมร มองว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เวลาแค่ 7 วัน เพราะการวิเคราะห์โครงสร้างระดับนี้ ต้องใช้เวลา ไม่ใช่แค่สันนิษฐานเร็ว ๆ แล้วจบไป เพราะจะไม่น่าเชื่อถือ ต้องมีการจำลองแบบในคอมพิวเตอร์ และทดสอบวัสดุ เพื่อวิเคราะห์” ถ้าได้ข้อสรุปที่ไม่น่าเชื่อถือแสดงว่าไม่ได้โฟกัสไปที่ต้นตอของปัญหา”
ถึงเวลาผลักดัน “กฎหมายความปลอดภัย”
การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ถล่มบ่อยขึ้น สะท้อนว่าคุณภาพงานก่อสร้างไทยกำลังมีปัญหา ศ.ดร.อมร เสนอให้ดูปัญหาไปถึงรากเหง้า
ทั้งคุณภาพคนที่เข้ามาทำงาน การรับจ้างช่วงต่อ ถ้าหาต้นตอของสาเหตุไม่ได้ ก็จะเกิดอีกแน่ ๆ ที่สำคัญคือรัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการตรวจสอบหรือกำกับการก่อสร้างที่เหลืออยู่ว่าจะมีความปลอดภัยได้มาตรฐาน ดำเนินการหรือยัง? และอาจจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษในการก่อสร้างในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยเป็นพิเศษ การก่อสร้างที่มีลักษณะโครงสร้างไม่ปกติเป็นพิเศษ ตอนนี้มีปัญหาที่คน เพราะอาคารสูงที่มีลักษณะสลับซับซ้อน วิศวกรระดับสามัญออกแบบได้ แต่มีความเชี่ยวชาญจริงหรือเปล่า ในต่างประเทศมีโมเดลที่ว่า โครงสร้างสำคัญ โครงสร้างสูง ๆ อาคารขนาดใหญ่ ควรต้องมี Independent Inspector (ผู้ตรวจสอบอิสระ) ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากอาจารย์มหาวิทยาลัย องค์กรวิชาชีพต่าง ๆ มาร่วม Screen (คัดกรอง) อีกทีหนึ่ง เพื่อตรวจสอบให้รอบด้าน แต่เรายังขาดหายไป นอกจากนี้อยากให้มีการจำกัดเรื่องการจ้างช่วงเพราะบางทีรับงานมาแล้วเอาคนอื่นมาทำ คนที่ทำไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่มีคุณภาพ ไม่มีเครื่องมือ หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ผู้รับเหมาหลักอาจไปขึ้นทะเบียนจริงรับงานมาจากภาครัฐ แต่ปรากฏไปจ้างช่วงต่อ ก็ไม่รู้จ้างใครมา มีลักษณะกินหัวคิว จึงอยากให้กำกับการขึ้นทะเบียนไปถึงผู้รับเหมาย่อยเลย
โศกนาฏกรรม…เตือนสติวงการก่อสร้าง
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ เตือนให้เราเห็นว่ามีปัญหาที่เป็นรากเหง้าที่ยังซ่อนตัวอยู่ข้างใต้รอวันปะทุ เมื่อมีเหตุกระตุ้น เช่นคราวนี้คือแผ่นดินไหว หรือ มีเรื่องของการถล่มคานขวาง (คานที่วางในแนวขวางหรือแนวตั้งฉากกับคานหลัก มักใช้เชื่อมโยงระหว่างคานหลักสองตัวเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยกระจายแรงและเพิ่มความแข็งแรงให้กับพื้นอาคารหรือโครงสร้าง) ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรเกิดขึ้น เราต้องกลับมาทบทวนโดยด่วนว่ามาตรฐานก่อสร้างในประเทศไทยจะเอาอย่างไรต่อจากนี้ ประชาชนจะปลอดภัยได้อย่างไร เป็นมารตรฐานที่รัฐต้องวาง
แล้วใครต้องรับผิดชอบ?
นายกฯ กำกับได้ และมอบให้รัฐมนตรีที่มีหน้าที่โดยตรง” ไม่ว่าใครก็ตามอยู่ที่ความจริงจังและจริงใจในการทำงาน ไม่ต้องถอดบทเรียนแล้ว เพราะเป็นเวลาที่ต้องแอคชัน ถ้ามัวแต่ถอดบทเรียนไม่ทันการณ์ เดี๋ยวก็ต้องไปถอดบทเรียนครั้งแต่ไปอีก สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ระบบรับรองความปลอดภัยการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในประเทศนี้ กลับมาเชื่อถือได้อีกครั้ง