ตรวจเหล็ก 28 ท่อนจากซากตึก สตง. พบ 13 ท่อนไม่ได้มาตรฐาน
ผลิตจากบริษัทที่ “ถูกสั่งปิดไปแล้ว” แต่ยังมีเหล็กถูกนำมาใช้
ผู้เชี่ยวชาญชี้ถึงเวลาเร่งตรวจสอบโครงการก่อสร้างอื่นที่อาจใช้เหล็กล็อตเดียวกัน
นี่เรากำลังอยู่ในเมือง…ที่ใช้เหล็กเถื่อนก่อสร้างอยู่ที่ไหนบ้างก็ไม่รู้?
ความปลอดภัยอยู่ไหน?
ตั้งแต่เมื่อไหร่? ที่การก่อสร้างไร้มาตรฐาน
ถล่มจนเกือบเป็นกิจวัตร…แต่เป็นเรื่องที่คนไทยจะชินชาไม่ได้!
ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มจากแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา…กำลังเปิดโปงหลายอย่างให้เราได้เห็นจากอาคารที่พังราบเป็นหน้ากลอง
“อะไรคือจุดเปราะที่ทำให้ทั้งอาคารถล่มลงมา?”
วันนี้… คำตอบเริ่มชัดขึ้นบางส่วน จาก “ผลการตรวจสอบเหล็ก” ที่ใช้ในอาคารหลังนี้
ผลสอบเหล็ก: ไม่ผ่านมาตรฐาน 13 ท่อน จาก 28 ท่อน
ข้อมูลจากนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า จากการนำเหล็กเส้น 28 ท่อนจากซากอาคาร สตง. ไปตรวจสอบคุณภาพที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า
• ได้มาตรฐาน มอก. จำนวน 15 ท่อน 5 ไซส์
• ไม่ได้มาตรฐาน มอก. จำนวน 13 ท่อน 2 ไซส์ ได้แก่ 20 มม. และ 32 มม.
• เหล็กทั้ง 2 ไซส์นี้ มาจากบริษัทเดียวกัน
• บริษัทดังกล่าว เคยถูก สมอ. สั่งปิดไปแล้วในเดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่ได้มาตรฐาน
ลักลอบผลิตต่อ? – ต้องสอบต่อว่าเหล็กที่ใช้ในตึกนี้ มาจากล็อตไหน?
เหล็กที่ถูกตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานนี้ อาจผลิตหลังจากคำสั่งปิดไปแล้ว 4 เดือน หรืออาจเป็นเหล็กที่หลุดรอดคำสั่งควบคุมไปก่อนหน้านั้น
หากพบว่ามีการลักลอบนำเหล็กไม่ได้มาตรฐานมาใช้ในการก่อสร้าง จะถูกดำเนินคดีอาญาต่อทันที
เสียงเตือนจากวงการวิศวกรรม
“เหล็กไม่ได้มาตรฐาน” อาจลามทั้งวงการก่อสร้าง
ศ.ดร.อมร พิมานเมฆ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ The Publisher ว่า หากพบว่าเหล็กที่ทำให้ตึกถล่ม “ไม่ได้มาตรฐาน” จริง สิ่งที่ต้องทำต่อไม่ใช่แค่หาคนผิดเท่านั้น
“ถ้าเหล็กมีปัญหา อาคารอื่นที่เอาเหล็กประเภทเดียวกันไปสร้าง
ก็มีความเสี่ยงอันตรายทันที เป็นเรื่องที่จะลุกลามเป็นวงกว้าง”
เขาย้ำว่า… การตรวจสอบต้อง ขยายผลไปยังโครงการก่อสร้างอื่น โดยเฉพาะอาคารสูงที่ใช้เหล็กล็อตเดียวกัน…โศกนาฏกรรมอาจเกิดซ้ำอีก โดยที่เราไม่มีทางรู้เลยว่า “ตึกไหนจะถล่มต่อไป”
ความรับผิดชอบ…ต้องไม่หยุดที่บริษัทเดียว
ประเด็นที่ควรถามต่อคือ
• เหล็กล็อตนี้ผ่านเข้าไปในระบบงานก่อสร้างได้อย่างไร?
• หน่วยงานตรวจสอบมีจุดรั่วตรงไหน?
• วิศวกรผู้ออกแบบ–ผู้รับเหมา–เจ้าของโครงการ รู้หรือไม่ว่าเหล็กที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน?
นี่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของบริษัทเหล็กแห่งหนึ่ง แต่คือ “ห่วงโซ่ความรับผิดชอบ” ที่ครอบคลุมทั้งวงการก่อสร้าง
ประชาชนมีสิทธิ์รู้ว่าตึกที่ตัวเองทำงานหรืออาศัยอยู่…ปลอดภัยหรือเปล่า?
ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ – ต้องทำอย่างไร?
ศ.ดร.อมร เสนอแนวทางเร่งด่วนว่า
• ต้องมีการ สุ่มตรวจวัสดุก่อสร้าง จากโครงการอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน
• ควรมี “ผู้ตรวจสอบอิสระ” (Independent Inspector) มาควบคุมงานโครงสร้างพิเศษหรืออาคารเสี่ยงสูง
• เร่ง แก้ระบบการจ้างช่วง ที่เปิดช่องให้ผู้รับเหมาหลักจ้างชั้นรองที่ไม่มีคุณภาพ
• ตรวจสอบย้อนกลับ การขึ้นทะเบียนเหล็ก / ซัพพลายเชน ของวัสดุก่อสร้างทุกชนิด
“ตึกถล่มครั้งนี้…คือสัญญาณเตือนว่า เราต้องโฟกัสที่ต้นตอ ดูไปถึงรากเหง้าของปัญหา ทำไมระยะหลังการก่อสร้างของไทยเกิดปัญหาบ่อย ต้องมีบางอย่างซ่อนอยู่ที่ต้องรีบหาให้เจอ” – ศ.ดร.อมร
อย่ารอให้พังเพิ่ม… ถึงค่อยลงมือ
แม้วันนี้เรายังไม่สามารถฟันธงได้ว่า “เหล็กไม่ได้มาตรฐาน” คือสาเหตุหลักของการถล่ม แต่การพบเหล็กไม่ได้มาตรฐานใช้ก่อสร้างอาคาร สตง. เป็นเสียงเตือนว่า…ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล หน่วยงานรัฐ และวงการก่อสร้าง จะต้องแสดง “ความจริงจัง” ไม่ใช่แค่ “แสดงความเสียใจ”