จีนกำลังขยับหมากในกระดานอาเซียน…แล้วไทยอยู่ตรงไหนนในกระดานนั้น?-รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” ให้คำตอบกับคำถามข้างต้นไว้อย่างเฉียบคมว่า “การเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือเกมภูมิรัฐศาสตร์ที่ไทยต้องจับตาและระมัดระวังอย่ากลายเป็น ”หมาก“ ที่ถูกมองว่า ”วางลงตัวแล้ว“
เยือนไทย…ยังรอจังหวะที่เหมาะสม
ก่อนหน้านี้นายกฯ แพทองธารไปเยือนจีน ได้เชิญปธน.สี มาไทย และจีนก็ตอบรับอยู่ระหว่างการดูจังหวะที่เหมาะสมว่าจะมาเมื่อไหร่ หรืออาจจะรอให้มีการเยี่ยมเยียนในระดับที่สูงกว่าหรือไม่ เพราะนายกฯ ไทย ได้รับคำเชิญจากนายกฯ จีน แต่ปธน. จีนก็ถือเป็นประมุขของประเทศและเราก็มีพระประมุขของประเทศ จึงต้องดูจังหวะที่เหมาะสมอีกหนึ่งปัจจัยว่าการเยี่ยมเยียนของพระประมุขจะต้องให้เหมาะสมและอยู่ในช่วงเวลาที่สอดคล้องกัน เป็นการเยี่ยมเยียนระดับสูงสุด
เมื่อไทยไม่ถูกเลือก…ในการเยือนอาเซียน
เรื่องนี้มีประเด็นทางการเมืองเพราะการเยือนมาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา น่าจะมีเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง หาลู่ทางใหม่ ๆ ในโอกาสที่กำลังเผชิญหน้ากับสหรัฐ มีเรื่องการใช้ฐานทัพหรืออู่ต่อเรือหรือสนามบินในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ซึ่งกัมพูชาก็เกิดแล้ว เวียดนามอยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งสหรัฐก็สนใจอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนมาเลเซียเป็นตัวแปรสำคัญเพราะเป็นประธานอาเซียนที่ต้องทำงานกับจีน และต้องการยกระดับตัวเองให้มีบทบาทมากขึ้นในโลกมุสลิม ส่วนจีนก็ต้องการมีบทบาทมากขึ้นในการฟื้นฟูฉนวนกาซา การเจรจากับสหรัฐผ่านซาอุฯ-อิหร่าน เป็นการเยือนทางยุทธศาสตร์ สะท้อนความสำคัญของเราในทางยุทธศาตร์สำหรับจีนแตกต่างจากสามประเทศนี้ จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่ไทยต้องจับตาให้ดี
”นี่คือการเยือนเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่แค่กาารเยือนมิตรประเทศ“
แล้วไทย…ถูกวางไว้ตรงไหน?
“ถ้าจีนคิดว่าไทยเป็นพันธมิตรที่ลงตัวแล้ว…นั่นอาจเป็นเรื่องอันตราย”
รศ.ดร.ปณิธาน เตือนว่า หากไทยถูกมองว่าอยู่ในกำกับของจีน แบบนี้อาจไม่ดีในทางการทูต แต่ความเชื่อเหล่านี้อาจไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด หรือไม่เป็นความจริงด้วยซ้ำ แต่ความเชื่อในทางการต่างประเทศ กลายเป็นความสำคัญในการกำหนดท่าทีของหลายประเทศ จึงต้องแก้ความเชื่อนี้ว่าเราไม่ได้อยู่ในกำกับของใคร แต่ขณะเดียวกันก็มีการรายงานว่าช่วงหลังจีนไม่พอใจไทยในหลายเรื่อง มีปัญหาเรื่องทุนจีนสีเทา และการผลักดันกาสิโน ซึ่งจีนกังวลมาก และลึก ๆ อาจมีบางเรื่องที่ผู้นำจีนมองว่า ผู้นำไทยหรืออดีตผู้นำบางคนใกล้ชิดสหรัฐมากขึ้น เขาอาจจับสัญญาณตรงนี้ได้ว่า มีความเคลื่อนไหวเรื่องการลงทุนบางอย่างที่เขารู้สึกว่าไม่ดีกับเขา เป็นการมองข้ามเขาไป ความไม่พอใจเหล่านี้ก็ยากที่จะเห็นเป็นทางการ เพราะจีนไม่ค่อยพูดอย่างตรงไปตรงมา
ระวังแนวชายแดนกัมพูชา-จับตาข้อตกลงใหม่
รศ.ดร.ปณิธาน แนะว่า ต้องดูข้อตกลงใหม่ที่จีนจะทำกับกัมพูชา เพราะจะมีผลกับเราโดยตรง ยุทธโธปกรณ์ของจีนทยอยเข้ากัมพูชาเป็นระยะ และอาจเปลี่ยนพฤติกรรมกัมพูชาตามแนวชายแดน ตรงนี้ต้องระมัดระวัง อาจต้องหาจังหวะเวลาคุยกับจีนในอนาคตด้วยว่า ถ้าจีนสนับสนุนุทธโธปกรณ์กับกัมพูชาเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหากับไทยมากขึ้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนแต่จำเป็นต้องคุยกับจีน แต่คงต้องดูก่อนว่าจีนจะมีข้อตกลงเรื่องความมั่นคงกับกัมพูชาในรอบนี้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็มากขึ้น มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางยุทธศาสตร์มากขึ้น และภาพรวมทางเศรษฐกิจ หลายประเทศก็ไม่ต้องการให้กัมพูชาพึ่งพิงจีนมากเกินไป แม้แต่ข้อตกลงให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งกัมพูชาต้องการมาก เพื่อยกระดับให้เป็นไปตามแผนพัฒนาประเทศสมัยใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้
เวียดนามเดินเกม “รักษาสมดุล”-ไทยต้องปรับน้ำหนักให้ดี
ส่วนเวียดนามใช้นโยบายต่างประเทศสร้างสมดุลใหม่ เข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลกับสหรัฐ ใกล้ชิดสหรัฐเพื่อถ่วงดุลจีน ความสัมพันธ์แนบแน่นก็จะมีมากขึ้น และกรณีเวียดนามจะเกี่ยวข้องกับความร่วมมือกับรัสเซียด้วย จึงมีความซับซ้อนมากกว่ากัมพูชาด้วยซ้ำ ต้องดูและปรับน้ำหนักเพิ่มหรือลดความร่วมมือกับจีนให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดสมดุลด้วย เพราะการเยือนสามประเทศในอาเซียนครั้งนี้ ในรอบถัดไปที่จะต้องร่วมมือกับจีน มีการเยี่ยมเยือนในระดับสูงสุดก็คงต้องเริ่มปรับน้ำหนักให้สมดุล ไม่ให้เราเสียเปรียบหรือเกิดอันตรายมากขึ้นในความสัมพันธ์เหล่านี้ จนเกิดปัญหาตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านหรือกับสหรัฐในอนาคต ทั้งหมดนี้เป็นความซับซ้อนในเรื่องการต่างประเทศที่เจ้าหน้าที่ทางการทูตต้องปรับตามสถานการณ์
การต่างประเทศไทย อ่อนล้า-จนมุม!
แม้มีความสำเร็จบ้าง เช่น การช่วยสี่ลูกเรือประมงไทยกลับประเทศรวมถึงการกลับมาของตัวประกันที่ฉนวนกาซา แต่การต่างประเทศของเราอยู่ในภาวะอ่อนล้า ถูกกดัน ต้อนเข้ามุมในบางกรณี เช่น การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน
“การต่างประเทศของเรายังมีความไม่ลงตัวหลายอย่าง ทำให้เราถูกทั้งรัฐสภายุโรปและสหรัฐต้อนเข้ามุม ถ้าเราฟุตเวิร์กหลบออกมาจากมุมไม่ได้ เพราะความอ่อนล้า การเปลี่ยนตัวนักกีฬาก็มีความจำเป็น ”
รศ.ดร.ปณิธาน เปรียบว่า “เมื่อนักกีฬาถูกต้อนจนมุม” อาจถึงเวลาที่ต้อง “เปลี่ยนตัว” บางคนในเกมนี้ เป็นการตอบคำถามว่า ”ถึงเวลาเปลี่ยนรมว.ต่างประเทศหรือยัง?“