จากข้อมูลที่ นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยกับ กมธ.
โครงการก่อสร้างอาคาร สตง. ใหม่
ได้รับการเบิกจ่ายล่วงหน้าและจ่ายค่างวดแล้ว 966 ล้านบาท
ซึ่งตามแผน ณ วันที่ 17 มีนาคม 2568
ควรมีความคืบหน้า 80.77%
แต่ความเป็นจริงคืบหน้าได้เพียง 33.70%
มีมติ “บอกเลิกสัญญา” แต่ทำอะไรไม่ได้
เพราะ…คตง.หมดวาระ?
คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ของ สตง. มีมติ
ให้ “บอกเลิกสัญญา” เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568
แต่ดำเนินการไม่ได้
เพราะต้องเสนอให้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) รับทราบ
ทว่า คตง. พ้นวาระแล้ว และยังไม่มีชุดใหม่
กระบวนการจึง “หยุดชะงัก” ทั้งที่มีความเสียหายชัดเจน
ที่น่าแปลกคือ แม้ คตง.พ้นวาระแต่ตามกฎหมายยังคงปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมี คตง. ชุดใหม่
แล้วเหตุใดจึงไม่มีการ “บอกเลิกสัญญา” ในเมื่อคตง.ชุดนี้ก็คือผู้ที่รับทราบอนุมัติให้มีการก่อสร้างตึกนี้…งงไหม?
แล้วทำไม สตง. ไม่เสนอให้ คตง. รับทราบ?
เป็นไปได้หรือไม่ว่า คตง. ชุดเดิมไม่อยากรับรู้ เพราะหมดวาระแล้ว แม้จะยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็ตาม
กะโยนเผือกร้อนให้ คตง.ชุดใหม่
หรือแย่ไปกว่านั้น…มีอะไรซ่อนอยู่ ในการช่วยชะลอให้การบอกเลิกสัญญาช้าลงหรือเปล่า?
———
ถ้าบอกเลิกสัญญาต้องให้ คตง. อนุมัติ
แล้วใครเป็นคน “อนุมัติเริ่มต้น?”
การจะบอกเลิกสัญญายังต้องเสนอให้ คตง. รับทราบ
นั่นหมายความว่า คตง. ย่อมรับรู้ตั้งแต่ “จุดเริ่มต้น” ของโครงการด้วยเช่นกัน
โครงการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ถาวรกว่า 2,000 ล้านบาท ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการกลั่นกรองนโยบายระดับบนสุด มีรายงานว่าตั้งแต่ยุคนายประจักษ์ บุญยัง เป็นผู้ว่าฯ สตง. ได้รายงานความคืบหน้าให้ คตง. รับทราบเป็นระยะ แม้จะไม่มีอำนาจบริหารโดยตรง แต่ คตง.ก็รับรู้กระบวนการมาโดยตลอด
แปลว่า คตง. มีบทบาทในโครงการนี้ ทั้งในฐานะผู้เห็นชอบและเป็นผู้รับทราบความคืบหน้าการก่อสร้างเป็นระยะ จึงไม่อาจปัดความรับผิด โดยบอกว่า ไม่เกี่ยวข้อง ได้
———
โครงการล่าช้า…ส่งคนงานตบตาการก่อสร้าง
อีกหนึ่งประโยคสะเทือนใจจากปากของ รองผู้ว่าการ สตง.
เขายอมรับตรง ๆ ว่า
การจะบอกเลิกสัญญาไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการตรวจรับฯ
และแม้จะไม่แจ้งผู้รับเหมาอย่างเป็นทางการ
แต่ “เขารู้ทัน” ว่าถูกจับตา
เลยรีบส่งแรงงานเข้ามาเพิ่มภายหลัง
เพื่อสร้างภาพให้ดูมีผลงาน
นี่คือความพังของระบบราชการไทยที่ชัดเจนที่สุด
ที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า “อะไรจริง – อะไรจัดฉาก”
หรือรู้ทั้งรู้ว่า “เขาหลอก” แต่เต็มใจ “ให้หลอก”
แล้วจะเหลืออะไร? ให้มั่นใจได้อีกกับ สตง. ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ?
⸻
บริษัทจีนอยู่เบื้องหลัง แต่ สตง.บอก “ไม่รู้”
กิจการร่วมค้า “ไอทีดี–ซีอาร์อีซี” ชนะการประมูล
โดยมีเทคโนโลยีและทุนจากจีน
มีบ.ไชน่า เรลเวย์ฯ เป็นผู้ก่อสร้าง
แต่ สตง. อ้างว่า “ไม่เคยรู้มาก่อน”
เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทอิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ออกหน้า
เป็นคำอธิบายที่ไม่อาจยอมรับได้
เพราะโครงการระดับสองพันกว่าล้าน ต้องมีเอกสารกิจการร่วมค้าฯ แนบในสัญญา…สตง. คือผู้มีหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจรับ และควบคุมการใช้จ่าย ถ้ายัง “ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ร่วมสร้างตึกของตัวเอง” จะเหลืออะไรให้เราหวังจากความสามารถเช่นนี้ในการตรวจสอบโครงการอื่น?
นี่คือความล้มเหลวขององค์กรตรวจสอบอย่างน่าเศร้า
⸻
มีขั้นตอนครบ – มี MOU กับ ACT – แต่ตึกยังถล่ม
รองผู้ว่าการ สตง. ชี้แจงว่า
ทุกอย่างทำตามระบบ:
- มีการเชิญบริษัทออกแบบ 24 ราย (ยื่น 3 ราย)
- จ้างออกแบบ 73 ล้านบาท ให้ บจก.ฟอรัม อาร์คิเทค – ไมนฮาร์ท
- คัดเลือกบริษัทควบคุมงานจาก 19 ราย (ยื่น 5 ราย)
- ทำ MOU กับองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT)
- ดำเนินการตามเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลาง
- ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (ขยายได้ 2 ครั้ง)
- ล่าช้าเพราะโควิดและเปลี่ยนแบบ Core Wall / Core Lift
แต่สิ่งที่ได้ คือ อาคารที่สร้างไปเพียงหนึ่งในสาม และพังถล่มลงมา
เหมือนทุกอย่าง “ดูดีตามระบบ”
แต่กลับไร้ประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ
หรือทั้งหมดเป็นแค่ “ฉากหน้า” ของระบบราชการที่ไม่เคยตั้งใจตรวจสอบตัวเอง
หรือมีอะไรมากกว่านั้น…ที่ซุกอยู่ใต้โต๊ะ?
⸻
“เฟอร์นิเจอร์แพง เพราะต้องรับแขกวีไอพี”
เมื่อ กมธ. ถามถึงเฟอร์นิเจอร์หรูหราราคาแพงของอาคารใหม่
คำตอบจาก สตง. คือ
“สตง. เป็นองค์กรระดับสูงสุดแห่งเอเชีย (ASOSAI)”
“ตำแหน่งประธาน คตง. เทียบเท่ารัฐมนตรี”
“ต้องมีห้องรับแขกวีไอพีไว้รับผู้มาต่างประเทศ”
“จะแพงก็แค่เฉพาะชุดบริหาร ครั้งหน้าเราจะไม่ทำให้แพง”
เป็นคำตอบที่ “ประชาชนไม่อิน”
เพราะมันไม่ใช่เงินของ สตง.
แต่เป็น… “เงินของแผ่นดินนั้นคือเงินของประชาชนทั้งชาติ” ตามคำขวัญของ สตง.
หรือ…พวกคุณไม่เคยซึมซับคำขวัญของตัวเอง?
⸻
ปัญหาที่ลึกกว่าตึกถล่ม: ความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง
บทเรียนที่ต้องจารึกจากกรณีนี้คือ
- ระบบกำกับดูแลอ่อนแอเกินไป
ถ้าต้องรอ “คณะกรรมการชุดใหม่” ถึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งไม่จริงเพราะตามกฎหมาย คตง.ชุดเดิมยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่รับรู้ ไม่ดำเนินการ แบบนี้ก็ได้เหรอ?
- กระบวนการประมูลไม่ได้สะท้อน “ประสิทธิภาพ” จริง
ใช้วิธีหั่นราคาเสนอราคาต่ำ แต่มาพร้อมคุณภาพต่ำหรือไม่? แม้จะมีคุณสมบัติพร้อม แต่ผู้รับเหมามีปัญหาทุนจนเลี้ยงไข้โครงการยาวนาน
- การตรวจสอบย้อนกลับล้มเหลว
ถึงขั้นไม่รู้ว่ามีบริษัทต่างชาติมาร่วมสร้างตึกของตัวเอง
- กฎหมายไม่ทันสมัย
ยังไม่รองรับการตรวจสอบ “แบล็กลิสต์ต่างประเทศ”
หรือโครงสร้างการร่วมค้าที่อาจย้ายความรับผิดชอบแบบไร้ร่องรอย
⸻
หน่วยงานที่ควรตรวจสอบคนอื่น กลับเป็นภาพสะท้อนของความล้มเหลวทั้งหมด
อาคารที่ถล่มลง
ไม่ได้เป็นเพียงการพังทลายของ “โครงสร้างเหล็กและปูน”
แต่คือการพังครืนของ
“ความเชื่อมั่นในระบบราชการไทย”
ที่ไม่สามารถรับมือกับความผิดพลาดของตัวเองได้เลย
เราไม่ได้เสียแค่ตึก
เรากำลังจะเสีย “มาตรฐานจริยธรรมของระบบราชการไทย” ไปด้วย
และแน่นอนว่า…คำถามตัวโต ๆ เกี่ยวกับการทุจริต
ก็ยังคงก้องในหัวประชาชน แม้เจ้าของตึกจะเป็นผู้ตรวจสอบทุจริตคนอื่นก็ตาม
⸻