“เรื่องนี้เศร้ามากนะ เพราะมันไม่ควรมีใครตายเลย ถ้ากล้าตัดสินใจยกเลิกสัญญาเร็วกว่านี้”
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ให้สัมภาษณ์ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง”
ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร
ถึงกรณีอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ที่พังถล่มลงมาก่อนสร้างเสร็จ
พร้อมตั้งคำถามถึง “ความรับผิดชอบ” ที่ควรมี…แต่กลับไม่มีใครออกมาแสดง
⸻
“รองผู้ว่าฯ สตง. อาจพูดสั้นไป…แต่ยังไงก็ต้องตรวจสอบให้ละเอียด”
ประเด็นหนึ่งที่อดีตผู้ว่า สตง. มองว่าน่าจะทำให้สังคมสับสน
คือคำชี้แจงของ นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการฯ สตง.
ที่อ้างต่อ กมธ. ว่า “ไม่รู้ว่าบริษัทจีนเป็นผู้ก่อสร้าง”
โดยเข้าใจมาตลอดว่าเป็นบริษัทอิตาเลียนไทยฯ
“ผมว่าอาจพูดสั้นไป… น่าจะหมายถึง ไม่รู้ว่าบริษัทจีนนั้นมาในรูปแบบนอมินีหรือไม่
เพราะระบบจัดซื้อจัดจ้างมันซับซ้อน คนไทยอาจถือหุ้นให้ต่างชาติแฝงเข้ามาได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข
แต่นั่นแหละ…ถ้าไม่รู้เลยจริง ๆ ว่าบริษัทจีนนี่มาร่วมค้า มันก็แย่มาก”
เขาย้อนภาพในอดีตให้เห็นว่า ตอนบวงสรวงก่อสร้างอาคาร
ก็เห็นป้ายกิจการร่วมค้าที่มีตัวหนังสือจีนสีแดงเด่นชัด
“ใคร ๆ ก็เห็นว่านี่คือกิจการร่วมค้า แต่บางคนอาจคาดหวังว่า อิตาเลียนไทยคือผู้รับเหมาหลัก
เพราะต้องเอาผลงานมาโชว์เพื่อให้ผ่านคุณสมบัติ
แต่กลับกลายเป็นว่า บ.จีนคือผู้ลงมือก่อสร้างจริง ๆ
แบบนี้ก็ต้องตรวจสอบให้ละเอียด ว่า ‘รู้ไม่ทัน’ หรือ ‘รู้แต่ไม่เปิดเผย’”
⸻
“15 ม.ค. บอกเลิกสัญญาได้แล้ว…แต่ไม่ยอมเสนอ คตง.”
นายพิศิษฐ์ แสดงความเสียดายอย่างชัดเจน
กับจังหวะที่เคยมี “โอกาสป้องกันโศกนาฏกรรม” ได้
เมื่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุมีมติให้บอกเลิกสัญญา
ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2568
แต่กลับไม่สามารถดำเนินการต่อ เพราะ “รอ คตง. ชุดใหม่”
“ฟังไม่ขึ้นเลยครับ เพราะตามกฎหมาย คตง. ชุดปัจจุบัน
ต้องทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีชุดใหม่
ยิ่งไปกว่านั้น… คตง. ชุดนี้ ‘รับรู้ตั้งแต่ต้น’ เกี่ยวกับการก่อสร้างตึกนี้
ประธาน คตง. ยังลงนามแถลงข่าวร่วมกันตอนเริ่มโครงการเลย
คตง. ทุกคนมายืนแบ็กอัป
เพราะวงเงินเกินพันล้าน ไม่ใช่อำนาจผู้ว่า สตง. แต่เป็นอำนาจของ คตง. ที่กำกับดูแล สตง.”
⸻
“ถ้ารับเงินเดือนทุกเดือน แต่ไม่ทำหน้าที่…ก็ลาออกเถอะ”
“ถ้าพวกท่านไม่พร้อมทำหน้าที่ ตรวจสอบไม่เดินหน้า
แต่มารับเงินเดือนทุกเดือน ผมก็อยากให้ลาออก
เพื่อเปิดทางให้ผู้ว่าการฯ สตง. ใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่”
⸻
“ถ้าบอกเลิกเร็ว ตึกคงร้าง ไม่ใช่มีคนตาย”
อดีตผู้ว่า สตง. ยังชี้ให้เห็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อว่า
หากการบอกเลิกสัญญาเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น
โครงการก่อสร้างจะถูก “หยุด” อย่างเป็นทางการ
และไม่มีแรงงานเข้ามาทำงานในจังหวะที่แผ่นดินไหวจนอาคารถล่ม
“ผู้รับเหมาเขารู้ว่ากำลังจะโดนบอกเลิก เลยรีบส่งคนงานเข้ามาเร่งงาน
เพื่อให้ดูเหมือนมีสภาพคล่อง มีความคืบหน้า
นั่นแหละคือจุดที่หายนะเกิดขึ้น
ถ้าตึกถูกสั่งระงับจริง ๆ มันก็เป็นแค่ตึกร้างชั่วคราว
ไม่มีใครต้องตาย…แต่นี่คือความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดเลย”
⸻
“ตึกถล่ม คือเรื่องของโครงสร้าง
แต่บอกเลิกช้า…คือความล้มเหลวของการบริหารความเสี่ยง
“ใครจะเป็นคนรับผิดเรื่องตึกพัง ต้องไปดูว่าเป็นการออกแบบ วัสดุ การควบคุมงาน หรือการก่อสร้าง
แต่อย่างหนึ่งที่ชัดมากคือ
การไม่กล้าตัดสินใจในเวลาที่ควรตัดสินใจ “ยกเลิกสัญญา”
มีส่วนทำให้เกิดความสูญเสียมากขึ้น
และในระบบแบบนี้…ใครกันแน่ที่ควรรับผิดชอบ?”
⸻
บทเรียน สตง. ตรวจเงินแผ่นดินต้องตรวจตัวเอง
พิศิษฐ์ ชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนของ สตง.ที่ต้องกลับมาทบทวนการใช้จ่ายเงินของตัวเองด้วยว่า เป็นไปตามคำขวัญที่ยึดถือหรือไม่ โดยเฉพาะข้อสังเกตของประชาชนเกี่ยวกับการซื้อครุภัณฑ์ราคาแพง การก่อสร้างอาคารในอนาคตก็ต้องน้อมรับเอาคำวิจารณ์เหล่านี้ไปปรับแก้ด้วย