“ถ้ารัฐบาลหวังแค่ 3,000 ล้านจากกาสิNO ผมมีวิธีอื่นที่จะเพิ่มจีดีพีให้ประเทศ 20,000 ล้านต่อปี โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตลูกหลานกับวงพนัน” — ผศ.ประสาท มีแต้ม, อนุกรรมการด้านพลังงาน สภาผู้บริโภค
ในขณะที่รัฐบาลเดินหน้าดัน “Entertainment Complex” พร้อมบ่อนถูกกฎหมาย หวังจะเก็บภาษีจากกาสิNO ราวปีละ 3,000 ล้านบาท มีคนคนหนึ่งลุกขึ้นพูดเสียงดังชัดว่า… มีทางที่ดีกว่านั้น และได้มากกว่านั้น
ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ไม่ได้เพียงแค่ “ไม่เห็นด้วย” กับกาสิNO แต่เขาเสนอ “ทางเลือกที่ดีกว่า” ด้วยเหตุผล เศรษฐศาสตร์ และข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระดับโลกที่ชวนให้ตั้งคำถามว่า…
แล้วทำไมรัฐบาลไม่เลือกทางนี้?
⸻
แดดไทยดีกว่าอังกฤษ แต่เรากลับผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาบ้านน้อยกว่าเขาหลายเท่า
รัฐบาลอังกฤษโดยพรรคแรงงานซึ่งเข้าบริหารประเทศพร้อม ๆ กับรัฐบาลแพทองธารเพิ่งประกาศแผนใหญ่ ส่งเสริมการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้ได้ 1.5 ล้านหลังใน 5 ปี
ขณะที่ไทย…ยังตั้งกฎหยุมหยิม จนประชาชนติดไม่ได้
“อังกฤษผลิตไฟจากแผงโซลาเซลล์ได้ประมาณ 900-1,000 หน่วย/กิโลวัตต์ต่อปี แต่ไทยได้ 1,400-1,500 หน่วย เพราะแดดเราดีกว่าเขาเยอะมาก ค่าแรงเราก็ถูก ช่างฝีมือเราก็มี แล้วทำไมเรากลับติดตั้งน้อยกว่าเขาหลายเท่า?”
คำตอบสั้น ๆ จากอาจารย์คือ:
“เพราะผู้ค้าก๊าซกับเจ้าของโรงไฟฟ้า…ใหญ่กว่ารัฐบาล”
ฟังแล้วสะเทือนซางไหมล่ะ?
⸻
ถ้าใช้พลังงานสะอาด = ลดนำเข้า = เพิ่ม GDP
ถ้าใช้แสงแดดผลิตไฟฟ้าเท่ากับลดการนำเจ้าก๊าซธรรมชาติ แต่ละปีเราใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวประมาณ 4 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.2%ของจีดีพี) หากเราลดการนำเข้าก็เท่ากับเพิ่มจีดีพีนั่นเอง
อาจารย์ประสาท ชวนคิดต่อว่า…
รัฐบาลอยากได้เงิน? ลองคิดแบบนี้:
• ไทย นำเข้าพลังงานปีละ 2 ล้านล้านบาท
• ถ้าแค่ลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติแล้วผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้าน 1.5 ล้านหลัง หลังละ 3กิโลวัตต์ ก็สามารถลดก๊าซคิดเป็นมุลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาท/ปี
• เงินจำนวนนี้มากกว่า 6 เท่า ของรายได้จากภาษีกาสิNO ที่รัฐบาลหวังจะได้
และที่สำคัญ… ไม่ต้องแลกกับสังคมที่ลูกหลานเสี่ยงกับอบายมุข
⸻
อุปสรรคอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่เทคโนโลยี
“จะติดโซลาเซลล์ ทำไมต้องให้วิศวกรเซ็นเพื่อรับรองความแข็งแรงของอาคาร ดูด้วยตาก็รู้ว่าแข็งแรงหรือไม่”
อ.ประสาทเสนอให้
• ยกเลิกข้อกำหนดหยุมหยิม
• เปิดให้ประชาชนสามารถแลกไฟฟ้ากับการไฟฟ้า โดยไม่ต้องเปลี่ยนมิเตอร์
• ตั้งกองทุนให้กู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับติดตั้งแผง
หลายประเทศทำไปแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เวียดนาม อังกฤษ…
แล้วทำไม “แดดดีที่สุดในโลก” อย่างไทย กลับไม่ให้คนไทยใช้?
⸻
พลังงานคือหัวใจของค่าครองชีพ
“พลังงานแพง = ทุกอย่างแพง = การลงทุนไม่มา“
ประชาชนไทยอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกับกบที่อยู่ในหม้อน้ำบนเตาไฟ คือร้ำค่อย ๆ ร้อนขึ้น เมื่อปี 2536. ไทยนำเข้าพลังงานแค่ 2.7% ของ GDP
พอถึงปี 2565 ตัวเลขพุ่งถึง 12% ของ GDP ในอนาคตเราจะร้อนกว่านี้ เพราะสถานการณ์ เพราะเรานำตัวเองไปขึ้นกับตลาดโลก ทั้ง ๆ ที่เราสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้มากกว่านี้
“เราเหมือนกบถูกต้มในน้ำร้อน…ไม่รู้ตัว”
ใช้โอกาสตอนที่เรายังไม่ “สุก” กระโดดออกจากหม้อกันดีกว่า!
⸻
ถ้าเราจะเลือกเส้นทางใหม่ ต้องฟังเสียงประชาชน
อังกฤษใช้คำว่า “หัวใจของแผนนี้คือผู้บริโภค”
เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ในราคาที่ไม่แพง แก้ปัญหาโลกร้อน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
“ของไทย…เวลาทำแผน ไม่เคยพูดถึงหัวใจเลย พูดแต่เทคนิก”
และถ้าจะเพิ่มเติมก็คือข้อสงสัยที่ว่า “ทุกครั้งที่ทำแผนคนได้ประโยชน์มักเป็นกลุ่มทุนพลังงานมากกว่าประชาชน” ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ?
⸻
“ทางออกมีอยู่จริง แต่ต้องมีพลังผลักดันโดยผู้บริโภคต้องช่วยกันครับ”
ผศ.ประสาท ฝากไว้ชัด ๆ ว่า
“มันยาก…แต่มันทำได้”
“ประชาชนต้องลุกขึ้นมาช่วยส่งเสียง อย่ารอให้เขาทำเพื่อเราอย่างเดียว”
⸻
อย่าหลงเชื่อว่า “บ่อน” คือทางออก
โซลาร์เซลล์ ไม่ได้แค่ผลิตไฟ แต่ผลิตอนาคตที่ปลอดภัยสำหรับลูกหลาน
ทางออกทางเศรษฐกิจมีอยู่…แต่ทางออกนั้นไม่ควรเป็น “วงพนัน”
“ถ้าเขายังไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหน ผมเสนอให้ 2 หมื่นล้านเลยครับ…” เป็นข้อเสนอทิ้งท้ายจาก อ.ประสาท
⸻