”เรามีไทยเทาเต็มไปหมด ไล่ตั้งแต่ผู้มีอำนาจ แล้วเราจะมั่นใจได้ยังไงว่าเงินสำรองฯ จะไม่ถูกใช้ผิดทาง หรือไม่มีการโกงเกิดขึ้น“-ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI
ในขณะที่สงครามภาษีโลกกำลังเดือด รมว.คลังของไทยนัดหารือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อวางแผนปรับพอร์ตการลงทุนเงินสำรองระหว่างประเทศ ท่ามกลางข้อสงสัยจากสาธารณะว่า รัฐบาลเล็งใช้เงินก้อนนี้เพื่อ ”อัดฉีดสภาพคล่อง“ แบบที่นายทักษิณ ชินวัตร เคยเสนอหรือไม่
ดร.สมชัย ก็ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ในรายการ ”เที่ยงเปรี้ยงปร้าง“ ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร“ ด้วยเช่นเดียวกัน ”การหารือระหว่าง รมว.คลังกับแบงก์ชาติเรื่องเงินสำรองฯ มันแปลก ๆ เพราะตามกฎหมาย เงินสำรองฯ อยู่ในอำนาจแบงก์ชาติ กระทรวงการคลังไม่มีสิทธิไปสั่งการเลย“
หรือมีวาระซ่อนอยู่?
ดร.สมชัย ชี้ว่า การที่กระทรวงการคลังออกสื่อมาแสดงบทบาทเรื่องเงินสำรองฯ อาจไม่ได้หวังแค่หารือเท่านั้น
”อาจเป็นการเปิดเวทีไว้ก่อน แล้วค่อยแทรกวาระอื่นเข้ามาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีความพยายามดึงเงินสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้หลายครั้งแล้ว“
เขาเตือนว่าเงินสำรองฯ ไม่ใช่ของรัฐ แต่เป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คนส่งออก ถือดอลลาร์แล้วแปรมาเป็นเงินบาทกับแบงก์ชาติ แล้วแบงก์ชาติก็นำดอลลาร์ไปลงทุนต่อ
“เงินนี้ไม่ใช่ของฟรี ถ้าเอาไปใช้แล้วเศรษฐกิจแย่ เงินสำรองฯ จะไหลออกเร็วมาก เพราะไหลเข้ามาน้อยกว่า และถ้าเจ้าของเงินต้องการถอนคืน แต่เราจ่ายคืนไม่ได้ จะนำไปสู่วิฤตความเชื่อมั่น”
เงินสำรองฯ ใช้ได้แต่ต้องโปร่งใสสูงสุด
“เงินสำรองไม่ใช่ว่าใช้ไม่ได้เลย แต่ต้องมีเงื่อนไขชัดเจน ใช้กับเรื่องจำเป็น เช่น ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หรือช่วยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า”
โดยสิ่งที่ ดร.สมชัย เป็นห่วงที่สุดคือ ธรรมาภิบาลของรัฐบาล
”ผมห่วงธรรมาภิบาลรัฐบาล เพราะอาจนำไปใช้กับโครงการประชานิยม หรือตั้งกองทุนที่มีการโกงได้ ตัวอย่างมีทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเราก็มีไทยเทาเต็มไปหมด ตั้งแต่ระดับผู้มีอำนาจ ทำให้คนจำนวนมากไม่ไว้ใจว่านักการเมืองจะใช้ถูกทางหรือไม่ จะมีการคดโกงหรือเปล่า?“
คาดแบงก์ชาติผ่อนคลายนโยบายการเงิน
สำหรับบทบาทแบงก์ชาติในสงครามการค้า ก็น่าจะต้องมีการปรับนโยบายด้านการเงินให้ผ่อนคลายมากขึ้นด้วยการลดดอกเบี้ย แต่จะมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ความไม่แน่นอน และจีดีพีที่ประเมินว่าอาจหดเหลือแค่ 1% ไม่ใช่แค่ปีนี้แต่อาจหมายถึงปีถัดไปที่จีดีพีจะลงเยอะ
แจกเงิน QE เหวี่ยงแห…ไม่ตอบโจทย์
ต่อข้อเสนอบางฝ่าย เช่น การทำ QE หรือการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ดร.สมชัย แย้งว่า ”สภาพคล่องไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาคือกระจายไม่ถึงฐานราก SME แข่งขันไม่ได้ ถ้าเพิ่มสภาพคล่องไป เงินก็ไปกองอยู่ที่แบงก์ ไม่ปล่อยกู้ เพราะกลัวเป็นหนี้เสีย การทำ QE แบบเหวี่ยงแหจึงไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้าทำแบบจำกัดวง เช่น ภาคส่งออก หรือ SME โดยตรง ก็อาจพิจารณาได้”
รัฐบาลมีแผนเจรจาสงครามการค้า…แต่ทีมยังไม่ครบ
เมื่อพูดถึงการรับมือสงครามภาษี ดร.สมชัยยอมรับว่า รมว.คลังและรมว.พาณิชย์ เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในแง่ตำแหน่งที่จะเป็นหัวหน้าทีมเจรจา แต่ตั้งข้อสังเกตว่า “ทีมเจรจาต้องมีนักการทูตอยู่ด้วย เพราะเรื่องนี้ต้องใช้ศิลปะ ไม่ใช่แค่เทคนิคทางเศรษฐกิจ แต่ในทีมยังไม่มี รมว.ต่างประเทศ ซึ่งอาจเกิดจากผลกระทบเรื่อง ”อุยกูร์“ ที่ไทยถูกสหรัฐมองว่าใกล้ชิดจีนมากเกินไป”
ดร.สมชัย ชี้ให้เห็นด้วยว่า “ทรัมป์เล่นเรื่องภาษีเพื่อสองเป้าหมายคือ หารายได้และกีดกันจีน เรื่องอุยกูร์ ไทยถูกประณามและอาจทำให้เสียแต้มต่อในการเจรจาด้วย”