โดย The Publisher | อ้างอิงแนวคิดจาก ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญากรุงเทพใต้
ในคดีทักษิณที่กำลังเป็นประเด็นร้อน จากคำร้องที่ยื่นโดยชาญชัย อิสระเสนารักษ์อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอให้ศาลพิจารณาความชอบธรรมในการบังคับโทษผู้ต้องขังชั้น 14 — ถูกศาลฎีกาปัดตกด้วยเหตุผลชัดเจนตามกฎหมายว่า “ไม่ใช่คู่ความ ไม่มีสิทธิเข้ายื่น”
หลักการนี้เป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่นักกฎหมาย
ดั่งที่ ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค ได้โพสต์อธิบายไว้อย่างลึกซึ้งว่า คนที่ไม่ใช่ “คู่ความ” ในคดีอาญา เช่น ประชาชนทั่วไป ย่อมไม่มีสถานะทางกฎหมายที่จะยื่นคำร้องต่อศาลในคดีนั้นๆ ได้ แม้จะมีข้อสงสัย หรือข้อมูลน่าสนใจเพียงใดก็ตาม
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าตัวบทกฎหมาย คือ การตีความและการใช้ดุลยพินิจของศาล
แม้ศาลฎีกาจะไม่ได้พิจารณาคำร้องโดยตรง แต่ “เห็นสมควร” เรียกไต่สวนกรมราชทัณฑ์และผู้เกี่ยวข้องเพื่อสืบข้อเท็จจริง ถือเป็นการใช้ “อำนาจทั่วไปในการผดุงความยุติธรรม” ตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ว่า “ตามที่ศาลเห็นสมควร”
นี่คือแนวทางที่ก้าวหน้า และควรเป็นบรรทัดฐานใหม่ของกระบวนการยุติธรรมไทย
ศาลไม่จำเป็นต้องรอให้คู่ความร้องเสมอไป หากเห็นว่าข้อมูลบางอย่าง “อาจกระทบต่อคำวินิจฉัย” หรือ “ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรม”
แต่ถ้าเช่นนั้น คำถามสำคัญที่ตามมาคือ…
แล้ว “คนที่เป็นคู่ความโดยตรง” ทำไมจึงนิ่งเฉย?
ในกรณีนี้ “อัยการสูงสุด” ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีอาญาต่อทักษิณ คือผู้มีสถานะทางกฎหมายเต็มที่ ไม่ใช่คนนอกคดี
หากพบว่า การบังคับโทษมีข้อสงสัย ว่าไม่เป็นไปตามคำพิพากษา — เช่น มีข้อเท็จจริงเรื่อง “การอยู่โรงพยาบาลเกินควร”, “ไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชทัณฑ์”, หรือ “ไม่ได้รับโทษตามสมควรแก่โทษ” — อัยการในฐานะคู่ความ สามารถใช้สิทธิทางกฎหมาย ยื่นคำร้องต่อศาลได้ เพื่อให้ศาลพิจารณาประเด็นเหล่านี้ในทางกระบวนการ แต่กลับไม่ทำอะไรเลย…
ทั้งที่ เชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นกระตุ้นสติแล้ว—แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวจากฝั่งอัยการ
ท่องคาถาแค่ว่า…คดีจบหน้าที่หมด
คดีจะจบที่คำพิพากษา…ได้อย่างไร
ถ้าการบังคับโทษบิดเบี้ยวจากเนื้อหาแห่งคำพิพากษานั้น?
การเรียนรู้จากเรื่องนี้จึงไม่เพียงน่าตื่นตา ตื่นใจไปกับ “การไต่สวนเองของศาลฎีกาฯ“ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 13 มิถุนายนเท่านั้น
แต่ต้องขมวดคิ้วถามอย่างตรงไปตรงมากับ ”อัยการสูงสุด“
ในฐานะ “ทนายแผ่นดิน”
ไม่อายคนนอกคดีที่เขาไม่เพิกเฉยต่อความไม่ยุติธรรมบ้างหรือ?
หากผู้ที่มีสถานะทางกฎหมายเต็มที่กลับนิ่งเฉย ท่ามกลางข้อสงสัยของสังคม ก็อาจถูกตั้งคำถามกลับได้ว่า ระบบยุติธรรมกำลังปกป้องคนบางกลุ่มหรือไม่?
ในเมื่อศาลกล้าใช้ดุลยพินิจเพื่อเรียกไต่สวนข้อมูลที่ “คนไม่มีสิทธิ” นำเสนอ…
ทำไมคนที่ “มีสิทธิเต็มมือ” ไม่กล้าใช้กฎหมายเพื่อพิทักษ์ความยุติธรรม?
ความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับชั้น 14 ป่วยทิพย์ ทำ “ทักษิณ” ไม่ติดคุกจริง ตามหมายจำคุก 1 ปี เป็นที่รับรู้ทั้งสังคม
หากไม่มี “คนนอกคดี” อย่าง “ชาญชัย” ที่ไม่ย่อท้อต่อการนำความเข้าศาลฯ ด้วยความพยายามถึงสามครั้ง คงไม่ได้เห็นภาพอย่างวันนี้
หากไม่มีเจตจำนง “ผดุงความยุติธรรม” อย่างแรงกล้าของ “ศาลฎีกาฯ”
ระบบยุติธรรมไทยก็คงถูกกัดกร่อนไปกับ “อำนาจที่คิดว่าทำได้ทุกอย่าง”
แต่โชคดีที่ประเทศไทยยังมีที่พึ่ง…ผลออกมาจะเป็นอย่างไรก็คงขึ้นอยู่กับศาลฯ แล้ว
⸻