แรงสั่นสะเทือนการเมืองจากฝั่งตะวันออกสะเทือนถึงรัฐสภา—เมื่อพรรคกล้าธรรมเดินเกมเร็ว ดูด ส.ส. จากพรรคประชาชนเข้าพรรคอย่างเงียบ ๆ ก่อนการปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะมาถึง เสริมทัพคะแนนเสียงในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ที่มีข่าวภูมิใจไทยจะคว่ำ แม้จะออกมาปฏิเสธในภายหลังก็ตาม
ล่าสุด “กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์” ส.ส.เขต 6 ชลบุรี ประกาศยุติบทบาททางการเมืองกับพรรคประชาชน และเปิดตัวซบกล้าธรรมอย่างไม่เป็นทางการ แม้พรรคเดิมจะขอให้ชะลอการเคลื่อนไหว
เบื้องหลัง “ลาออกเงียบ” กับแรงกดดันในพรรค
กฤษฎิ์ ตัดสินใจยุติบทบาทกับพรรคประชาชน หลังมีปัญหาทัศนคติไม่ลงรอยกับผู้บริหารพรรค รวมถึงกรณีการยื่นขอหารือประเด็นสำคัญในสภาแต่ถูกพรรคสกัด พร้อมทั้งถูกเรียกเข้าพบในลักษณะ ‘เข้าห้องเย็น’ เหตุการณ์นี้บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าตัวกับพรรคอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้งเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ที่เจ้าตัวปฏิเสธลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครของพรรค อ้างขัดแย้งกับทีมจังหวัด
กล้าธรรม – รวมไทยสร้างชาติ – ภูมิใจไทย ใครตกปลาได้ก่อน?
การย้ายค่าย เปลี่ยนพรรคกลางเทอมดูเหมือนจะหลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ทางการเมือง ไม่พอใจประกาศแยกย้าย แต่คำถามคือทำแบบนี้เคารพประชาชนที่เลือกเข้ามาทำหน้าที่หรือไม่?
กรณี “กฤษฎิ์” ยังถูกแฉเพิ่มว่าเคยรับปากชาวบ้านว่าเลือกเข้าไปแล้วจะไม่ย้ายพรรค เพราะเคยมีบทเรียนสส.เขตนี้ย้ายจากอนาคตใหม่ไปอยู่กับภูมิใจไทยมาก่อนหน้า แต่สุดท้ายก็จบแค่การเป็น สส.สมัยเดียวไม่ได้รับเลือกกลับเข้าไปอีก
ส่วนกฤษฎิ์ ตอนนี้เนื้อหอมถูกรุมจีบทั้งกล้าธรรม ภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติ ก็เข้ามาต่อสายถึงเจ้าตัวเช่นกัน เสนอทั้งเก้าอี้และขอให้เลือกพรรคที่มีฐานในพื้นที่เพื่อไม่ให้ถูกมองเป็น ‘งูเห่า’ โดยเฉพาะในสายตาของบ้านใหญ่นักการเมืองชลบุรี แต่สุดท้าย กฤษฎิ์ เลือก “กล้าธรรม” อาจเพราะ “ผู้กองธรรมนัส” กล้าทำทุกอย่างในทางการเมือง?
เงินเดือน 2.5 แสน รถตู้หรู ข่าวลือหรือใบเบิกทาง?
เพียงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ นายยอดชาย พึ่งพร ส.ส.พรรคเดียวกัน เปิดเผยกลางเวทีหาเสียงว่า มีพรรคหนึ่งเสนอเงินกว่า 55 ล้านบาท พร้อมเงินเดือนพิเศษ 250,000 บาท และรถตู้หรูเพื่อดึงตัวไปร่วมพรรค ข่าวนี้แม้ไม่ได้ระบุชื่อชัด แต่สร้างแรงกระเพื่อมภายในพรรคประชาชนอย่างหนัก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกที่เคยเป็นฐานเสียงใหญ่
พรรคประชาชนระส่ำ: ชลบุรี–ระยอง–ฉะเชิงเทรา เริ่มถูกตีแตก
ในเขตตะวันออก พรรคประชาชนเคยกวาดมาได้ถึง 17 จาก 29 ที่นั่ง ประกอบด้วย ชลบุรี 7 ที่นั่ง ระยอง 5 ที่นั่ง จันทบุรี 3 ที่นั่ง ตราด 1 ที่นั่ง และฉะเชิงเทราอีก 1 ที่นั่ง แต่หลังกรณี “กฤษฎิ์” ลาออก มี ส.ส. อีก 2–3 คนเริ่มแสดงท่าทีคล้ายจะย้ายพรรคเช่นกัน ขณะที่นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรีอีกคน ประกาศจะไม่ลงสมัครสมัยหน้า ส่วนนายยอดชายยังยืนยันจะอยู่กับพรรคต่อ
“เกมรุมกินโต๊ะ” เพื่อพลิกสมดุล ครม. กลางปีนี้?
แหล่งข่าวในพรรคประชาชนชี้ว่า ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือแผนรุมกินโต๊ะจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อดึง ส.ส. จากพรรคประชาชนไปเสริมเสียงให้รัฐบาล และเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พรรคประชาชนเคยกุมไว้แต่เริ่มเปราะบาง
การเมืองวันนี้ไม่ได้แค่มี ‘งูเห่า’ แต่กลายเป็นการ ‘ตกปลาในบ่อขเพื่อน” เอาเสียงประชาชนที่มอบให้ด้วยความไว้วางใจ ไปต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี กล้าธรรมและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นเดินเกมเร็ว แต่คำถามอยู่ที่ว่า พรรคประชาชนจะป้องกันฐานเสียงตัวเองได้แค่ไหน—ก่อนจะถูกตีแตกทั้งแผง
สำคัญไปกว่านั้นคือเราจะยอมให้วัฒนธรรมย้ายพรรคกลางเทอมเกิดขึ้นแบบนี้ โดยไม่เคารพเสียงของชาวบ้านที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งไปอีกนานแค่ไหน?