วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐฝ่ายเศรษฐกิจ โพสต์ข้อความตั้งคำถามต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ที่เห็นชอบให้กระทรวงการคลังออก “G-Token” หรือโทเคนดิจิทัลของรัฐบาลเพื่อใช้เป็นช่องทางกู้เงินตามกรอบการชดเชยขาดดุลงบประมาณ
- ประเทศได้อะไรจาก G-Token?
นายธีระชัยชี้ว่า หากเป้าหมายของ G-Token คือการนำประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ต้องเริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานก่อน ได้แก่
- การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง
- การให้ความรู้ทั้งในโรงเรียนและชุมชน
- การพัฒนาธุรกิจการเงินดิจิทัล
- การส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลขนาดย่อมของคนรุ่นใหม่
- การให้บริการออนไลน์ของรัฐ และการใช้บล็อกเชนเพื่อความโปร่งใส
รวมถึงความแน่นอนด้านกฎหมายเกี่ยวกับโทเคนและการตีความกรณีข้อพิพาท รวมทั้งระบบที่รองรับ Tokenization เช่น stable coin สกุลบาท, smart contract และระบบเคลียริ่งที่ปลอดภัย ซึ่งควรให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้ออกโทเคนเอง
- การลงทุนของรายย่อยควรปลอดภัย ไม่ใช่ผันผวน
แม้มีการอ้างว่า G-Token จะช่วยให้รายย่อยเข้าถึงพันธบัตรสะดวกขึ้น แต่นายธีระชัยเตือนว่า ปัจจุบันก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้อยู่แล้ว ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. และราคาซื้อขายเป็นไปตามกลไกที่ชัดเจน
ในทางตรงข้าม G-Token ต้องซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอาจผันผวนรายชั่วโมงจากแรงเก็งกำไร และอาจกลายเป็นเวทีเก็งกำไร มากกว่าการลงทุนเพื่อออมอย่างปลอดภัย
- เสี่ยงขัดเจตนารมณ์กฎหมายหนี้สาธารณะ
ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 กำหนดว่า “การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทำเป็นสัญญา หรือออกตราสารหนี้ หรือวิธีการอื่นใดก็ได้” ซึ่งนายธีระชัยเห็นว่า คำว่า “วิธีการอื่นใด” ก็น่าจะอยู่ในความหมายเดียวกับสัญญาหรือตราสารหนี้
การที่กระทรวงการคลังพิจารณาว่า G-Token ไม่ใช่ตราสารหนี้ จึงขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะ G-Token เป็นเพียง “สัญลักษณ์” แทนสัญญาหรือตราสารหนี้ แต่ไม่ใช่เอกสารที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อพิพาทในอนาคต
- ต้องไม่ละเมิดกฎหมายเงินตรา
หากไม่มีมาตรการชัดเจน อาจมีการนำ G-Token ไปใช้ชำระหนี้ ซึ่งจะเข้าข่าย “เงินตรา” ที่ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังจึงต้องอธิบายให้ชัดว่า จะป้องกันปัญหานี้อย่างไร
- อ้างลดต้นทุน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าถูกกว่า
แม้รัฐอ้างว่า G-Token จะช่วยลดค่าธรรมเนียม 0.03% ที่เคยจ่ายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ยังไม่แจกแจงว่าค่าใช้จ่ายของ G-Token จะถูกกว่าจริงหรือไม่ โดยเฉพาะค่าบริหารระบบ นายทะเบียน และค่าธรรมเนียมในตลาดดิจิทัล
ที่สำคัญ ค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้ ธปท. ก็ยังอยู่ในระบบของรัฐ ไม่ได้รั่วไหล
ต้องชั่งน้ำหนักให้ชัดเจนก่อนเดินหน้า
นายธีระชัยชี้ว่า ระบบการขายพันธบัตรผ่าน ธปท. ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังทำงานได้ดีและไม่เคยมีปัญหา ดังนั้นก่อนจะเดินหน้าออก G-Token ควรเปิดเผยผลได้-ผลเสียให้ประชาชนรับทราบอย่างรอบด้าน และหากรัฐบาลหวังผลเชิงนโยบายตลาดทุนดิจิทัล ควรมีแผนแม่บทรองรับ ไม่ใช่เร่งเพียงการออกโทเคนฝ่ายเดียว ทั้งที่ไม่มีประเทศใดในโลกทำเช่นนี้