เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ในรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร
—
คำพิพากษา “ยิ่งลักษณ์” ไม่ใช่บรรทัดฐานใหม่ แต่เป็นบทสรุปจากนโยบายที่ละเลยคำเตือน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องชดใช้ค่าสินไหม 10,028 ล้านบาทจากความเสียหายในการระบายข้าวแบบจีทูจีว่า ไม่ควรนำมาเหมารวมว่าเป็น “บรรทัดฐานใหม่” ที่จะทำให้ฝ่ายบริหารไม่กล้าทำนโยบาย
“ไม่ได้กลายเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้ผู้บริหารประเทศในอนาคตกำหนดนโยบายสาธารณะลำบากขึ้น”
เขาย้อนอธิบายต้นตอของปัญหาในโครงการจำนำข้าว โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลสมัครและสมชาย ซึ่งยังคงใช้ระบบโควต้าที่ไม่ได้รับซื้อข้าวทั้งหมด แต่เมื่อถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลับเปลี่ยนเป็นรับซื้อข้าวทั้งหมดในราคาสูงกว่าตลาด ซึ่งนำไปสู่สต๊อกส่วนเกิน ปัญหาการระบาย และการเปิดช่องทุจริต
“มีปัญหาจากตัวนโยบายที่กำหนดราคาจำนำสูงกว่าตลาด ซึ่งไม่ควรเรียกว่าจำนำตั้งแต่ต้น… พอเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นผมเป็นนายกฯ ก็สรุปว่าทำต่อไม่ได้ เพราะเท่ากับรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาด สต๊อกเพิ่มมหาศาล การระบายข้าวเกิดความเสียหาย และเปิดช่องทุจริตได้ง่าย”
⸻
ไม่ใช่แค่ “ขาดทุน” แต่คือการเพิกเฉยต่อคำเตือนจนเกิดความเสียหาย
อภิสิทธิ์แยกความแตกต่างระหว่าง “ขาดทุน” กับ “การละเลยจนเกิดความเสียหายจากทุจริต” โดยชี้ว่าการขาดทุนเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในโครงการช่วยเหลือ เช่น “ประกันรายได้” ซึ่งใช้เงินอุดหนุนเกษตรกรโดยตรง และหากมีการรั่วไหล ก็เป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องกำหนดมาตรการควบคุม
“กรณีประกันรายได้ช่วยเกษตรกร 100 บาท อาจจะใช้เงินเกิน 100 เพียงนิดหน่อยเป็นค่าบริหารจัดการ”
เขายกตัวอย่างว่า แม้มีกรณีแจ้งพื้นที่เพาะปลูกเกินจริงหรือไม่ตรงข้อเท็จจริงในโครงการประกันรายได้ แต่รัฐบาลของเขาก็วางมาตรการป้องกัน เช่น การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการตรวจสอบ และมีการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิด ซึ่งสะท้อนว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ
ในทางกลับกัน โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกเตือนหลายครั้งตั้งแต่ในระดับนโยบาย ทั้งจาก ป.ป.ช., และอีกหลายหน่วยงาน รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับดำเนินโครงการต่อไปโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน
“ที่โครงการนี้มีปัญหาไม่ใช่เรื่องขาดทุน… แต่กรณีจำนำข้าว เงินที่สูญไปกับเรื่องทุจริตใกล้เคียงกับเงินที่ช่วยเกษตรกร”
⸻
คำพิพากษาไม่ได้ขัดขวางนโยบาย แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบตามกฎหมาย
“ในเชิงหลักการไม่ได้ทำให้นายกฯ หรือฝ่ายนโยบายทำหน้าที่ไม่ได้”
อดีตนายกรัฐมนตรีย้ำว่า คำพิพากษาเป็นผลจากข้อมูล ข้อเท็จจริง และการพิจารณาตามหลักกฎหมาย โดยไม่ใช่การปิดกั้นการออกนโยบายใหม่ หากนโยบายนั้นมีเหตุมีผลรองรับทางวิชาการ และไม่เพิกเฉยต่อความเสี่ยงที่ได้รับการเตือน
⸻
สวนวาทกรรม ”ถูกปล้นความยุติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า“
“เมื่อชนะก็เงียบ แต่เมื่อแพ้กลับโวยวาย”
หลังคำพิพากษาฯ มีการผลิตวาทกรรม ”ถูกปล้นความยุติธรรม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” อภิสิทธิ์มองว่านี่คือปัญหาเรื่องทัศนคติ
“คำว่าถูกปล้นความยุติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่พูดกันในตอนนี้ก็เป็นปัญหาสำหรับคนบางกลุ่ม เมื่อชนะคดีก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าแพ้จะแสดงความไม่พอใจ กล่าวหา จึงอยากให้ดูตามเนื้อหาของแต่ละคดีมากกว่า”
⸻
เตือน “นายกฯ คนปัจจุบัน” ว่าควรวางตัวให้เหมาะสม
เมื่อถูกถามถึงกรณีแพทองธาร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แชร์ข้อความถูกปล้นความยุติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขากล่าวว่าเข้าใจในแง่ของความสัมพันธ์ครอบครัว แต่ก็ต้องตระหนักในบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศ
“เข้าใจว่าเป็นการแสดงความรู้สึกเพราะเกี่ยวพันกับคนในครอบครัว แต่ก็ควรระมัดระวัง ต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้บริหารสูงสุด และเป็นฝ่ายรัฐอยู่ในปัจจุบันว่าควรมีท่าทีที่เหมาะสม อย่างไร”
⸻
คัดค้านแนวคิด “คุ้มครองนักการเมืองแบบไร้ขอบเขต”
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่พยายามให้การคุ้มครองนักการเมืองจากความรับผิดทางกฎหมายโดยอ้างว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน
“มีวิธีคิดของนักวิชาการและนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามจะเอาแนวคิดว่า คนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนจะต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย… แต่สำหรับผมคิดว่า การให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแบบไม่มีขอบเขตเป็นเรื่องอันตรายมาก”
เขาเน้นว่าแม้การคุ้มครองในบางบริบท เช่น เอกสิทธิ์ในสภา เป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่หากใช้เพื่อปกป้องการทุจริตหรือละเลยหน้าที่ จะเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยโดยตรง
“มาจากการเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ทุกอย่างโดยปราศจากความรับผิดชอบ… ผมไม่เห็นเหตุผลว่าจะเป็นผลดีต่อระบบการเมืองหรือระบอบประชาธิปไตยอย่างไร”
⸻
“คดีชั้น 14” ทักษิณคงสู้ทุกทาง
เมื่อถูกถามถึงคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัด ไต่สวนปมชั้น 14 ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ตอบว่าทุกอย่างควรเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ยอมรับว่าในอดีตมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้โทษตามคำพิพากษา
“เชื่อว่าคงมีความพยายามอีกหลายอย่างในการไม่ให้เดินไปแบบตรงไปตรงมา ทั้งหมดคงต้องรอดูว่าศาลฯ จะวางกรอบการไต่สวนไว้อย่างไร”
เขาย้ำในตอนท้ายว่า
“ส่วนมติแพทยสภาเกี่ยวข้องกับหมอ ไม่ใช่คุณทักษิณโดยตรง”