“รธน.ห้ามแตะเงินชำระหนี้ เพราะนั่นคือภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินนักการเมือง ใครทำผิดถูกถอดถอนก็ต้องยอมรับชะตากรรมของตัวเอง” — ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ในรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร”
—
ท่ามกลางอุณหภูมิการเมืองที่ร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในประเด็นที่ทำให้องศาเดือดจัดคือ การทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ที่ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก “ทนายนกเขา” นายนิติธร ล้ำเหลือ และนายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนที่ผ่าน เนื่องจากรัฐบาลเศรษฐา โยกงบชำระหนี้ธนาคารรัฐ 5 แห่งวงเงิน 3.5 หมื่นล้านไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จนถูกมองเป็นระเบิดเวลาเคลียร์กระดานการเมืองแบบกวาดยกเข่ง ตั้งแต่ครม.ไปจนถึงสส. สว.และกรรมาธิการฯ ที่ให้ความเห็นชอบการกระทำนี้
ชาญชัย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมหลังไปทวงถามความคืบหน้าในการพิจารณาของป.ป.ช.มาแล้วหนึ่งเดือน พร้อมยื่นเอกสารเพิ่มเติม
“เราแนบเอกสารที่รัฐบาลเคยส่งไปถามกฤษฎีกา เขาตอบชัดว่าต้องทำตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 และแบงก์ชาติเองก็เตือนว่า ถ้าเอาเงิน ธ.ก.ส. ไปใช้แบบนี้จะกระทบสภาพคล่องจน ธ.ก.ส.เจ๊งได้”
เขาระบุว่านี่ไม่ใช่แค่ความเห็น แต่มีกฎหมายรองรับ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ที่ห้ามตัดงบชำระหนี้และดอกเบี้ยมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
“งบประมาณคือภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินนักการเมือง ที่จะเอาไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย”
เขาเห็นว่าต้องรีบมีบทสรุปในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายซ้ำ เนื่องจากในวันที่ 28 พ.ค.นี้ จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ถ้าปล่อยให้ทำได้ เงินแสนหรือสองล้านที่ต้องนำไปชำระหนี้ อาจถูกโยกไปใช้อย่างอื่น จะยิ่งเสียหายมากขึ้น
—
ธ.ก.ส.เสียหาย–เกษตรกรเดือดร้อน
เหมือนคนใช้วงเงินเต็มจนไม่มีเงินจ่ายหนี้
เขายกตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า เมื่อรัฐบาลโยกงบไปใช้ เงินกู้ของ ธ.ก.ส. ก็ชนเพดาน จนไม่สามารถปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ ทั้งยังผิดวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์กรนี้
“เหมือนประชาชนใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน ครบรอบจ่ายก็ไม่จ่ายหนี้ เอาไปใช้อย่างอื่นต่อ ก็ยิ่งพัง วินัยการเงินก็เสีย เครดิตก็เสีย”
—
อย่าปล่อยให้ ป.ป.ช. เตะถ่วง
ถ้าล่าช้าเกิน 15 วัน เตรียมเยี่ยมอีก
แม้ยังไม่เห็นความคืบหน้า เขายังเชื่อว่า ป.ป.ช. ไม่มีเจตนาจะดึงเรื่อง แต่เพราะเป็นกรณีใหม่ที่ไม่เคยมีการยื่นตามมาตรา 144 มาก่อน จึงอาจใช้เวลาศึกษา
“แต่ตอนนี้หลักฐานพร้อมหมดแล้ว ต้องรีบดำเนินการ ไม่อย่างนั้น ป.ป.ช. ก็จะเข้าข่ายละเว้นเสียเอง ทำผิดมาตรา 157 เสียเอง”
หากภายใน 15 วันยังไม่มีความคืบหน้า เขาและคณะจะไปติดตามที่ ป.ป.ช. อีกครั้ง และถ้า “เยี่ยมเกิน 3 ครั้ง” ก็อาจต้องหามาตรการทางกฎหมายที่แรงขึ้น เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
—
ไม่ใช่การไล่ล่าทางการเมือง
แต่เป็นการให้คนรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ
เขาปฏิเสธว่าการเดินหน้านี้คือความพยายาม “กวาดนักการเมืองออกจากระบบ” แต่เป็นการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่ทำผิดจริง
“รัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนชัด ถ้าผิดต้องถอดถอน ต้องชดใช้เงินแผ่นดิน เมื่อฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ละเมิดรัฐธรรมนูญ เอาเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่ายจนเกิดความเสียหายต้องรับผิอบ ส่วนใครทำผิดบ้างแล้วแต่ชะตากรรมที่ทำ ถ้าถูกถอดถอนก็เป็นผลจากการกระทำของตัวเองทั้งสิ้น เพราะทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ขาดเพื่อเป็นบรรทัดฐาน ไม่ให้มีนักการเมืองมาสร้างความเสียหายลักษณะนี้อีก“
เขาย้ำว่ามีรายงานการประชุมของ กมธ. ที่ระบุชัดเจนว่าใครพูดอะไรไว้ในเรื่องนี้ มีความชัดเจนเพียงพอแล้วสำหรับการดำเนินคดี
—
“ใครจะถูกถอดถอนหรือไม่ไม่ใช่ประเด็น แต่สิ่งสำคัญคือประเทศจะยอมให้เอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้โดยไม่เคารพรัฐธรรมนูญได้หรือไม่”