“ผมฟันธงว่ามีใบสั่งมา” นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นักกฎหมายมากประสบการณ์ กล่าวกลางรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ของ ThePublisher ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร ชี้ชัด ๆ ถึงเหตุผลที่ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และ ชาตรี อรรจนานันท์ ถูกสว.ตีตกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่อง“ทัศนคติไม่พึงประสงค์” แต่เป็น “ใบสั่งมา”
“ก่อนนี้ก็ได้ข่าวมาว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าสีน้ำเงิน จะตีตก อาจารย์สิริพรรณ อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าตีตกทั้งคู่ ผมคิดว่าเขาน่าจะอยากตีตกอาจารย์สิริพรรณอยู่แล้ว แต่พอท่านทูตชาตรีถูกเสนอชื่อมาคู่กัน ก็เลยพลอยฟ้าพลอยฝนถูกตีตกไปด้วย ผมฟันธงเลยว่ามีใบสั่งมา แต่การจะตีตกแค่ อาจารย์สิริพรรณ เพียงคนเดียว อาจสร้างปัญหาทางภาพลักษณ์ จึงต้องตีตกทั้งคู่ไปด้วย ซึ่งก็กลายเป็นเวรกรรมของท่านทูตชาตรีไปโดยปริยาย”
“ทัศนคติไม่พึงประสงค์” หรือ “เหตุผลที่ถูกสร้างขึ้น”?
หนึ่งในเหตุผลที่ ส.ว. นำมาใช้ในการปฏิเสธ ศ.ดร.สิริพรรณ คือ เธอมีแนวคิดสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งถูกมองว่าเป็น “ทัศนคติที่ไม่พึงประสงค์” ในสายตาของ สว.
“เหตุผลแบบนี้ฟังขึ้นหรือไม่? ผมว่า ฟังไม่ขึ้น” นายนิพิฏฐ์ให้ความเห็น “เพราะ ส.ว. ต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระและเป็นกลาง ไม่ถูกชักนำโดยการเมือง แต่พอเห็นผลการโหวตแบบนี้ก็สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้ขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางอย่างชัดเจน”
“ถ้าเราเชื่อมั่นในความอิสระและเป็นกลาง ทำไมเราไม่ยอมรับ อิสระทางวิชาการ ของอาจารย์สิริพรรณ? เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่ แต่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน เพราะนี่คือ ความเห็นทางวิชาการ ไม่ใช่ความผิด
การใช้คำว่า ทัศนคติที่ไม่พึงประสงค์ กลายเป็นคำถามกลับไปที่ตัว ส.ว. เองว่า แล้วพวกคุณยังจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่? เพราะหาก ส.ว. ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง ถูกชี้นำโดยผู้ให้กำเนิด ส.ว. เอง มันอันตรายมาก และประชาชนจะตั้งคำถามเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ส.ว. ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?”
ตัวเลขลงมติที่บอกอะไรบางอย่าง
เมื่อลองดูคะแนนเสียงที่ทั้งสองคนได้รับ นายนิพิฏฐ์ชี้ว่า “มันเป๊ะตามที่หลายคนคาดการณ์ คือ สีน้ำเงินมีประมาณ 140 เสียงในวุฒิสภา ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า ส.ว. กลุ่มนี้มีเจ้าของจริง ๆ ถ้าเหตุผลหลักคือ ‘ทัศนคติ’ จริง คะแนนมันไม่ควรจะออกมาเป๊ะขนาดนี้ ซึ่งหมายความว่า มันไม่ใช่เรื่องทัศนคติ แต่มันคือใบสั่ง”
นายนิพิฏฐ์ ยังวิเคราะห์เกมสภาสูงต่อจากนี้ว่า จะมีการแชร์อำนาจระหว่างสีแดงกับสีน้ำเงิน “ฝ่ายหนึ่งไม่อยากให้สีน้ำเงินได้อำนาจไปทั้งหมด หากไม่แชร์อำนาจกันก็อาจเกิดศึกภายในกันเอง แบบที่เราเคยเห็นมาก่อนหน้านี้ แต่ปัญหาคือ การแชร์อำนาจนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อถ่วงดุลประชาธิปไตย แต่มันคือการแชร์อำนาจของ นักการเมือง ซึ่ง ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นี่แหละคือเรื่องที่อันตรายที่สุด”
อนาคตของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ: อันตรายที่ต้องจับตา
เมื่อถูกถามถึงอนาคตของศาลรัฐธรรมนูญจากสถานการณ์เช่นนี้ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า “น่าเป็นห่วง”
“มีข้อเสนอให้ชะลอการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระไปก่อน จนกว่าข้อครหาจะหมดไป ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ก็ต้องถามว่า กระบวนการจะทันหรือไม่? แต่ถ้าปล่อยไปแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอาจกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแทนที่จะเป็นองค์กรอิสระจริง ๆ ซึ่ง อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง”
ระบบคัดสรรตุลาการและองค์กรอิสระ: ถึงเวลาต้องเปลี่ยน?
นายนิพิฏฐ์ชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้ระบบที่ถูกออกแบบมา เช่น คณะกรรมการสรรหา ที่มาจากประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานรัฐสภา อาจทำงานอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ สุดท้ายเมื่อมาถึง ส.ว. ก็ถูกบล็อกอยู่ดี”
“สมมติคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกคนที่ดีที่สุดมา ก็ไม่มีทางผ่านอยู่ดี เพราะ ชื่อที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจจะไม่มีทางผ่าน นี่คือสภาพที่เราอยู่ตอนนี้ เราต้องกลับไปดูที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจริง ๆ ว่า การเลือก ส.ว. ต้องปราศจากการแทรกแซงของพรรคการเมืองและอำนาจเงิน แต่สิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้มันตรงกันข้าม”
“ถ้าเป็นแบบนี้ ส.ว. อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป”
“หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ส.ว. จะกลายเป็นปัญหาในการออกกฎหมาย การเลือกกรรมการองค์กรอิสระ และแม้แต่การตัดสินประเด็นสำคัญในประเทศ การจะแก้ไขสภาพการณ์นี้ ประชาชนต้องตื่นรู้ อย่ายอมจำนนกับระบบที่ไม่เป็นธรรม อย่าคิดว่า ไหน ๆ ก็เป็นแบบนี้แล้วก็ปล่อยไป เพราะถ้ายอมแพ้ มันจะไม่จบแค่ครั้งเดียว แต่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก”
บี้ กกต.-DSI เร่งหาคำตอบให้ประชาชน
นายนิพิฏฐ์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้มีคดีในมือกกต.และDSI ทั้งเรื่องฮั้วและการฟอกเงิน “ถ้า กกต. และ ดีเอสไอ ไม่เร่งดำเนินการตรวจสอบเรื่องการฮั้ว ส.ว. และการใช้เงินซื้อตำแหน่ง คนจะหมดศรัทธาต่อระบบทั้งหมด ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่คำถามที่ใหญ่ขึ้นว่า กกต. ยังจำเป็นอยู่หรือไม่? และ ส.ว. ยังจำเป็นอยู่หรือไม่? ถ้าทั้งกกต.และ DSI เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเลวร้ายต้องรีบยุติโดยเร็ว ไม่จำเป็นต้องสอบพยาน 6-7 พันคน เอาพยานสัก 4-50 คนแล้วดึงมาเป็นชุดแรกเลย คือ นักการเมือง พรรคการเมืองที่ไปยุ่งกับการเลือกสว. ต้องเด็ดหัวก่อน ไม่อย่างนั้นกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้แล้ว ทั้ง DSI และ กกต.ต้องรีบให้คำตอบกับสังคม” เขาย้ำพร้อมระบุว่า กรรมการในองค์กรอิสระทำหน้าที่ 7 ปีบ้าง 9 ปีบ้าง หากปล่อยให้ติดกระดุมเม็ดแรกผิดจะเป็นปัญหาและอันตรายต่อระบบ ”นักการเมืองที่สถาปนาสว.และองค์กรอิสระก็สบายไป“
”นักการเมืองมือสกปรก“ อยากคุมเกม
นายนิพิฏฐ์ ยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้นักการเมืองต้องการเข้ามาคุมกรรมการในองค์กรอิสระว่า เป็นเพราะ ”นักการเมืองมือสกปรก มือที่ไม่สะอาด ต้องการผู้ตัดสิน คนควบคุมเกมที่เป็นคนของตัวเอง แต่คนที่มือสะอาด สุจริต ก็สนับสนุนให้สว.ต้อง้เป็นกลาง เพื่อเลือกคนที่เหมาะสมไปเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ แต่คนที่ไม่สะอาด ไม่ซื่อสัตย์ ก็ต้องการองค์กรอิสระที่เป็นพวกของเขาเพื่อให้ตีตก เป่าคดีให้จมหาย เขาต้องการอย่างนั้นก็ได้อย่างนั้นจริง ๆ
กรณีการตีตกสองรายชื่อว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การโหวตของ ส.ว. เท่านั้น แต่เป็น บทพิสูจน์ว่าระบบของไทยยังเป็นอิสระจริงหรือไม่
หากประชาชนยังคงเฝ้าจับตาและตั้งคำถาม สังคมอาจมีโอกาสเปลี่ยนแปลง แต่หากปล่อยผ่านไป เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก – จนไม่มีวันสิ้นสุด