ไซเบอร์บุกจับนักข่าวสถาบันทิศทางไทย: คุกคามสื่อ? หรือเด้งรับแรงเอาใจทักษิณ?
วงการสื่อสะเทือน! ตำรวจไซเบอร์บุกจับนักข่าวจากสำนักข่าว The Critics ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทิศทางไทย หลัง ทนายความของทักษิณ ชินวัตร เข้าแจ้งความว่าเธอเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท
นี่คือการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเป็น การส่งสัญญาณเตือนนักข่าวที่กล้าท้าชนอำนาจ?
ตำรวจไซเบอร์เด้งรับไว บุกถึงบ้านนักข่าวหลังทักษิณร้องเรียน
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์นับสิบรายบุกเข้าตรวจค้นบ้านของ น.ส.ไญยิกา ผู้ประกาศข่าวของ The Critics ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อที่มักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเครือข่ายอำนาจของนายทักษิณ
การบุกจับครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก ทนายความของทักษิณเข้าแจ้งความ โดยอ้างว่าสำนักข่าวดังกล่าวเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ตำรวจไม่รอช้า รีบดำเนินคดีทันที
น.ส.ไญยิกา เปิดเผยว่า “ตำรวจบุกมาตอนเช้า ไม่มีหมายจับ แต่มีหมายค้น เอาโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ทุกอย่างไปหมด” และตั้งคำถามว่า “นี่คือการบังคับใช้กฎหมายปกติ หรือเป็นการปิดปากนักข่าว?”
ทำไมคดีนี้ตำรวจทำงานเร็ว? แต่กับคดีอื่น ๆ กลับเงียบกริบ?
ย้อนรอย “ไซเบอร์บุกจับ” แอดมินเพจล้อเลียนทักษิณ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตำรวจไซเบอร์ “เอาจริงเอาจัง” กับคดีที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ
เพียงเดือนที่แล้ว ตำรวจไซเบอร์เพิ่งจับกุม แอดมินเพจ “ลมเปลี่ยนทิศ” ในข้อหาตัดต่อภาพล้อเลียนทักษิณและบุคคลทางการเมืองอื่น ๆ โดยกล่าวหาว่า ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเสื่อมเสียชื่อเสียง
นี่ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า ตำรวจไซเบอร์กำลังทำงานเพื่อรักษากฎหมาย หรือกำลังปกป้องบุคคลบางกลุ่ม?
เมื่อไซเบอร์กลายเป็นเครื่องมืออำนาจรัฐ?
ตำรวจไซเบอร์ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี การหลอกลวงออนไลน์ และภัยไซเบอร์ที่ส่งผลต่อประชาชน แต่ในช่วงหลัง กลายเป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง?
ทำไมตำรวจไม่เร่งจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งหลอกเงินออนไลน์ หรือเว็บพนัน?
แต่กลับให้ความสำคัญกับ การจับกุมคนที่ตัดต่อภาพ-เผยแพร่ข้อมูลวิจารณ์ทักษิณ
ย้อนรอย “ทักษิณ” กับคดีแทรกแซงสื่อ: ซื้อง่าย-คุมสบาย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทักษิณถูกกล่าวหาว่า พยายามควบคุมสื่อ
ย้อนกลับไปช่วงที่เขาเป็นนายกฯ มีข่าวลือสะพัดเรื่องการแทรกแซงและเข้าซื้อกิจการสื่อ เพื่อควบคุมการรายงานข่าว ไม่ว่าจะเป็น
• แทรกซื้อหุ้นสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) เพื่อควบคุมเนื้อหา
• แทรกซีมการเมืองเข้าไปกดดันบรรณาธิการให้เปลี่ยนแนวทางข่าว มีรายงานว่ามีการสั่งยกเลิกการวิเคราะห์ข่าวที่พาดพิงนายทักษิณ
• แทรกแซงรายการดังที่วิจารณ์ตัวเองจนหลายรายการหายไปจากหน้าจอ เช่น มีการสั่งถอดรายการวิเคราะห์ข่าวการเมืองที่เปรียบเทียบฟอร์มระหว่างนายทักษิณกับนายชวน หลีกภัย และ ถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ทางช่อง 9 อสมท. จนต้องพลิกเกมไปจัดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” กลายเป็นปฐมบทของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในเวลาต่อมา
สื่อต่างประเทศเคยวิจารณ์เรื่องนี้หนักมาก ว่าทักษิณใช้สื่อเป็นอาวุธทางการเมือง มากกว่าจะยอมรับการตรวจสอบ
นี่คือการคุกคามสื่อ หรือเป็นแค่การบังคับใช้กฎหมาย?
การบุกจับนักข่าวโดยอ้างว่าเป็นไปตามกฎหมาย เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลต้องเผชิญกระแสวิจารณ์หนัก ทั้งเรื่อง เศรษฐกิจตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำ และนโยบายที่ทำให้เกิดคำถามหลายอย่าง ทั้งการผลักดัน กาสิโน พนันถูกกฎหมาย และเงินสกุลดิจิทัล