บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวคิดของภาครัฐในการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC – Asset Management Company) เพื่อ ซื้อหนี้เสียของลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะหนี้อุปโภค-บริโภคจากระบบ เครดิตบูโร ถือเป็นการสะท้อนความตระหนักถึงปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2567 พบว่า NPL (หนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป) ของภาคประชาชนในเครดิตบูโรมีจำนวนสูงถึง 9.59 ล้านบัญชี มูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความซับซ้อนของปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เรื้อรังมาตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
“AMC จะช่วยให้ระบบการเงินไทยลดภาระหนี้เสีย แยกหนี้เสียออกจากงบดุลของธนาคาร ทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้คล่องขึ้น” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดนี้จะดูเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ยังมีคำถามว่า AMC ที่กำลังจะตั้งขึ้น จะสามารถบริหารหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? และจะเป็นการแก้ปัญหายั่งยืน หรือแค่การยื้อเวลาให้ระบบการเงินเดินหน้าต่อไป?
เปรียบเทียบวิกฤตปี 2540 กับปัจจุบัน: AMC ครั้งนี้ต่างจากอดีตอย่างไร?
กรณี AMC ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย เพราะเคยมีแนวทางนี้มาแล้วหลัง วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ที่ทำให้ หนี้เสียพุ่งสูงถึง 52.3% ของสินเชื่อรวม (คิดเป็น 2.5 ล้านล้านบาทในปี 2542)
ปี 2540-2541 มีการตั้ง AMC เอกชนและภาครัฐกว่า 10 แห่ง เพื่อแยกหนี้เสียจากธนาคารออกไป
ปี 2544 มีการจัดตั้ง บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMC) ซื้อหนี้เสียกว่า 7.8 แสนล้านบาท จากสถาบันการเงิน
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งเสริมการส่งออกและเงินลงทุนจากต่างชาติ ทำให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวจากหนี้เสียได้ง่ายกว่า
ความแตกต่างของวิกฤติครั้งนี้ คือปี 2540 เป็นวิกฤตภาคธุรกิจ แต่ปัจจุบันเป็น วิกฤตหนี้ภาคประชาชน ในปี 2540 รัฐใช้ TAMC ซื้อหนี้จากธนาคารพาณิชย์ แต่ครั้งนี้เน้นซื้อหนี้รายย่อย ตลาดการบริหารหนี้วันนี้ซับซ้อนกว่า เพราะ มี AMC เอกชนถึง 87 แห่งอยู่แล้ว
AMC รอบนี้ต้องออกแบบให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจเป็นแค่การยื้อปัญหา
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เตือนว่า ความสำเร็จของ AMCขึ้นอยู่กับการออกแบบโมเดลธุรกิจ ทั้งรูปแบบการจัดตั้ง แหล่งเงินทุน ราคาซื้อหนี้ เงื่อนไขส่วนแบ่งผลขาดทุนหรือกำไรจากการบริหารหนี้ ตลอดจนระยะเวลาของโครงการว่าจะปิดตัวเมื่อบริหารหนี้จากการซื้อตามโครงการที่กำหนดเสร็จสิ้น หรือจะเป็น AMC ที่รับซื้อหนี้ต่อเนื่องเหมือนที่ดำเนินการอยู่จำนวนมากถึง 87แห่งในปัจจุบัน “เพราะจะมีผลต่อความร่วมมือในการขายหนี้ ผลกระทบต่อลูกหนี้และเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม”