นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Thirachai Phuvanatnaranubala – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาว่าการโอนหุ้นภายในครอบครัวของนักการเมืองรายหนึ่ง เข้าข่าย “หนีภาษี” หรือไม่นั้น ไม่ควรยึดเพียงรูปแบบของเอกสารเท่านั้น แต่ต้องใช้หลัก “Substance over form” หรือการยึดข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจเหนือรูปแบบทางกฎหมาย
นายธีระชัยระบุว่า เอกสารหลักฐานในกรณีนี้สำแดงว่าเป็นการซื้อขายหุ้น แต่ไม่มีการชำระเงินโดยตรง มีเพียง “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” ที่ไม่กำหนดวันชำระและไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งอาจเข้าข่าย “นิติกรรมอำพราง” ได้หากตีความว่าไม่มีการซื้อขายจริง
3 ข้อสังเกตสำคัญจาก “ธีระชัย” ต่อกรมสรรพากร
- ต้นทางของหุ้นมูลค่ามหาศาล
ผู้ขายหุ้นได้แก่ พี่สาว (2,388 ล้านบาท), พี่ชาย (335 ล้านบาท), ลุง (1,315 ล้านบาท) และป้าสะใภ้ (258 ล้านบาท) ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในฐานะพ่อแม่ของผู้ซื้อ จึงควรตรวจสอบว่า
• ได้หุ้นมาในโอกาสใด
• ได้ชำระเงินซื้อหรือไม่ และมีรายได้เพียงพอหรือไม่
• มีการเสียภาษีเงินได้จากการได้มาซึ่งหุ้นดังกล่าวหรือไม่
• หรือหุ้นเหล่านี้อาจเป็นทรัพย์สินที่นักการเมืองนำมาซุกไว้หรือไม่ - เหตุผลที่ไม่ชำระหนี้หุ้นแม้เวลาผ่านไปหลายปี
• หุ้นที่ซื้อจากพี่สาวและพี่ชายตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน (9 ปี) ยังไม่ชำระเงิน
• หากผู้ซื้อหุ้นมีฐานะร่ำรวยพอจะซื้อทรัพย์สินอื่น ๆ ได้ เหตุใดจึงยังไม่ชำระหนี้หุ้น?
• เช่นเดียวกัน หุ้นจากลุงและป้าสะใภ้ในปี 2566 ก็ยังไม่มีการจ่ายเงินเช่นกัน - ภาระดอกเบี้ยที่อาจถือเป็นรายได้
• แม้ตั๋วสัญญาใช้เงินไม่คิดดอกเบี้ย แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 7 เจ้าหนี้สามารถเรียกดอกเบี้ย 3% ต่อปี
• พี่สาวและพี่ชายสามารถเรียกดอกเบี้ยรวมปีละ 81.69 ล้านบาท ส่วนลุงและป้าสะใภ้อีก 47.19 ล้านบาท
• หากไม่ได้เรียกเก็บ ต้องพิจารณาว่าเป็นรายได้ของลูกหนี้ที่ได้รับ “การยกเว้นดอกเบี้ย” หรือไม่
• หากเรียกเก็บ เจ้าหนี้ก็ต้องสำแดงเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเช่นกัน
“ธีระชัย” ย้ำ ต้องตีความด้วยหลักเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงเอกสาร
นายธีระชัย สรุปว่า กรณีลักษณะนี้มักจะเป็น “ทางสองแพร่ง”
• ถ้าไม่ถือเป็นการซื้อขายจริง ก็อาจเข้าข่ายนิติกรรมอำพรางเพื่อหนีภาษี
• หากถือเป็นการซื้อขายจริง ก็ควรมีการเสียภาษีทั้งในฝั่งรายได้จากดอกเบี้ยของเจ้าหนี้ หรือการได้รับประโยชน์จากการยกเว้นดอกเบี้ยของลูกหนี้
นอกจากนี้ นายธีระชัยยังกล่าวถึงคำอธิบายจากเฟซบุ๊กของนายกรณ์ จาติกวณิช ที่ว่า การติดหนี้ในครอบครัวไม่ผิดปกติ ว่าอาจใช้ไม่ได้กับกรณีนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมีทรัพย์สินรายงานไว้กว่า 13,993 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะถือว่า “ขัดสนเงินทอง”
ทั้งนี้ นายธีระชัยย้ำว่า โพสต์นี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะเชิงวิชาการสำหรับกรมสรรพากร โดยไม่ได้กล่าวหาบุคคลใด