สถานการณ์การปะทะคารมทางการเมืองระหว่าง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และ แพทองธาร ชินวัตร เป็นประเด็นที่น่าสนใจ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ “วาทกรรม” ในโลกออนไลน์เพื่อสร้างความชอบธรรมและโจมตีฝ่ายตรงข้าม
จุดเริ่มต้นมาจาก คำให้สัมภาษณ์ของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า “สามีเป็นคนใต้ ถ้าละเลยคนใต้ หรือไม่รักคนใต้ คงแต่งงานกับคนใต้ไม่ได้” ถูก “เจี๊ยบ” อมรัตน์ วิจารณ์ว่าเป็นคำตอบที่ไม่เกินชายคาบ้าน “เฉิ่ม” และ “เอาตัวเองเป็นแกนกลางของจักรวาล ตามมาด้วยการฟาดแรงว่า “ตอบคำถามยังไงให้มีความเสี่ยงต้องมีผัวให้ครบทุกภาค“
ทำเอานายกฯ คุณหนูนั่งไม่ติด มีการตอบโต้ผ่าน Instagram Story ด้วยข้อความภาษาอังกฤษที่แปลเป็นไทยได้ว่า “ความคิดเชิงลบของคุณ สะท้อนถึงความเป็นจริงของตัวคุณเอง” และ “คนที่ไม่มีความมั่นใจ กดคนอื่นให้ต่ำลง เพื่อยกตนเองให้สูงขึ้น” แม้จะไม่ระบุว่ากล่าวถึงใครแต่การแชร์คำคมทั้งสองประโยคในห้วงเวลานี้ทำให้มองเป็นอื่นไปได้ยาก นอกจากตอบโต้ ”เจี๊ยบ อมรัตน์“
หากเราวิเคราะห์จะเห็นว่า นายกฯ คุณหนู ใช้วาทกรรมเชิงอำนาจตบด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ อาจตีความได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความเหนือกว่า หรือการสร้างภาพลักษณ์ผู้นำยุคใหม่ ไปจนถึงการกล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้าม “ไม่มีความมั่นใจ” เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือ การตีความคำพูดของนายกฯ คุณหนู จึงอาจตีความได้หลายแง่มุม เช่น เป็นการแสดงความมั่นใจในตนเอง ปฏิเสธคำวิจารณ์โดยไม่ชี้แจงเหตุผล และ โจมตีฝ่ายตรงข้ามโดยอ้อม
แม้จะดู “เฟียส” ถูกใจผู้สนับสนุนแบบฟาดมาฟาดกลับ แต่ก็มีสิ่งที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำที่ลดตัวไปปะทะคารมกับ “เจี๊ยบ อมรัตน์” ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในทางการเมือง ยกเว้นปากที่ยังแซบแบบเต็มสิบไม่หัก
เหตุการณ์นี้ยังเป็นตัวอย่างของการใช้วาทกรรมในโลกออนไลน์เพื่อสร้างความชอบธรรม โจมตีฝ่ายตรงข้าม และช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของโซเชียลมีเดียต่อการเมืองไทยที่แทบแยกไม่ออกว่าเป็นสื่อกระแสรองหรือกระแสหลัก เพราะประโยคจากโซเชียลถูกนำไปขยายความต่อจากสื่อหลักอยู่เป็นประจำ
สิ่งสำคัญคือประชาชนควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร และไม่ตกเป็นเครื่องมือของวาทกรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายใดก็ตาม