The Publisher ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ มาวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกรณีอิหร่าน-อิสราเอล ว่าจะบานปลายกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่เขย่าโลกหรือไม่ และท่าทีของไทยกับจุดยืนเรื่องนี้เป็นอย่างไร
โดย รศ.ดร.ปณิธาน มองว่าโอกาสที่จะเป็นชนวนนำไปสู่สงครามระดับภูมิภาค และเขย่าโลกทั้งใบนี้อยู่ที่การโจมตีของอิสราเอลกันว่ามีเป้าหมายของที่ตั้งทางการทหารของอิหร่าน รวมทั้งที่ตั้งของห้องทดลองของอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านหรือไม่ ซึ่งทางสหรัฐฯ ได้ออกมาปรามอิสราเอลแล้ว และหลายฝ่ายคิดว่าถ้าไม่ไปถึงจุดนั้นโอกาสที่จะบานปลาย มีชาติอื่นเข้าไปช่วยเหลือร่วมสงครามก็อาจจะลดลง
แต่การโจมตีบ่อน้ำมันของอิหร่าน เพื่อทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของอิหร่านเพิ่มขึ้นไปอีก หลังจากอิหร่านถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคบานปลายได้เหมือนกัน แต่อาจจะไม่มากเหมือนเท่ากรณีแรก
ประเด็นที่สอง อาจกระทบโดยตรงกับไทยหรือประเทศที่ต้องใช้น้ำมันจากตะวันตะวันออกกลาง ที่ต้องเผชิญกับความแปรปรวนของราคาน้ำมัน ประเด็นที่สาม การสู้รบทางตอนใต้ของเลบานอน ทางตอนเหนือของอิสราเอล จะมีการส่งกำลังเข้าไปควบคุมพื้นที่ เพื่อจัดพื้นที่แนวกันชนควบคุมพื้นที่ชายแดน ก่อนส่งคนกลับไปตั้งรกราก เกิดเป็นเขตปลอดทหารสถานการณ์ ด้านนี้อาจจะไม่บานปลายมากขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ส่วนปัจจัยอะไรที่อาจไปซ้ำเติมให้สถานการณ์มันรุนแรงขึ้นบ้าง รศ.ดร.ปณิธานบอกว่าจะรุนแรงที่สุดการลอบสังหารผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งขณะนี้เส้นแบ่งความพอดีหรือว่ากติกาเดิมในการรบการของอิสราเอลกับอาหรับไม่มีแล้วก้าวข้ามไปแล้ว หลังจากที่อิหร่านกับอิสราเอลโจมตีกันไปมาจากแผ่นดินแม่ของตัวเอง ทำให้คาดเดายากมากว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ขณะนี้ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้หลบไปในที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะเป็นห่วงว่าอิสราเอลจะเลยเถิดไปถึงสังหารผู้นำการเมืองของอิหร่าน ถ้าทำอย่างนั้นก็คงบานปลาย เพราะอิหร่าน มีพันธมิตรที่เป็นชาติมหาอำนาจหลายชาติ
ประเทศไทย มีความเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ และต้องเตรียมรับสถานการณ์
รศ.ดร.ปณิธานบอกว่า ระยะสั้นต้องดูเรื่องความปลอดภัยของคนไทย ที่บางส่วนอยู่ในพื้นที่ล่อแหลม ซึ่งตอนนี้มีคนไทยเสียชีวิตแล้ว ต้องเร่งย้ายคนไทยไปในที่ที่ปลอดภัย ขยับจากชายแดนเข้ามาในพื้นที่ส่วนกลาง แต่ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการหางานในเมืองที่ยากมากขึ้น รวมถึงการส่งแรงงานไทยไปที่อิสราเอลควรต้องชะลอไว้ก่อนในสถานการณ์ที่มันตึงเครียดแบบนี้ จากนั้นต้องคิดถึงเรื่องการโยกย้ายแรงงานไทยที่หมดสัญญาไปยังประเทศอื่นๆ ให้ได้มีรายได้ที่ใกล้เคียง เช่นที่ซาอุดิอาระเบีย
ต่อมาต้องคิดถึงการปรับสมดุลใหม่กับชาติอาหรับ ซึ่งตอนนี้เราได้สนับสนุนปาเลสไตน์ให้ตั้งรัฐคู่ขนาน ตอนไปต้องคิดถึงการส่งกำลังไปช่วยเหลือฟื้นฟูฉนวนกาซ่า โดยใช้เงินของนานาชาติ ซึ่งตอนนี้มาเลเซีย อินโดนีเซียอาสาแล้ว แต่ไทยมีศักยภาพมากกว่าทั้งสองประเทศนี้ เพราะมีประสบการณ์ไปฟื้นฟูหลายประเทศ เช่นติมอร์ตะวันออก หรือซูดาน โดยส่งกองกำลังอาสาสมัคร ทั้งพลเรือน-ทหาร-ตำรวจไปช่วยเหลือฟื้นฟู และช่วยดูแลคนไทยไปด้วย
รัฐบาลแพทองธาร ควรทำอย่างไร
รศ.ดร.ปณิธานแนะว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ สปป.ลาว จะต้องยกประเด็นนี้ขึ้นมา ว่าไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องให้อาเซียนสมาชิกต่างๆช่วยกันประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว
ส่วนในการประชุม ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย Asia Cooperation Dialogue หรือ ACD ที่กาตาร์ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ต้องระวัง อย่าให้ติดกับดัก ถูกดึงไปเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะว่าทั้งสองค่ายสองขั้วที่อยู่ในที่ประชุม ประเทศไทยควรอยู่ตรงกลาง เพราะเวทีระหว่างประเทศมีความซับซ้อนมาก และหลายประเทศตั้งใจที่จะดึงผู้นำมือใหม่ประสบการณ์น้อย อ่อนแอเข้าไปเป็นพวก อันนี้ต้องอย่าให้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้ประเทศไทย และคนไทยจำนวนมากลำบาก