เรียกว่าเป็นช่วงเรียงหน้าชี้แจงประเด็นที่ตอนแรกพวกเขาคิดว่าคงจะซาหายไปเอง แต่ยิ่งปล่อยไว้กลับยิ่งมัดแน่นขึ้นไปอีก นั่นคือกรณีนโยบายรัฐบาลเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อนำทรัพยากรใต้ทะเลขึ้นมาใช้ตามวิสัยทัศน์ ทักษิณ ชินวัตร เพราะมันลุกลามผูกโยงไปที่ข้อตกลง หรือ MOU 2544 และไหลเลยไปถึงข้อหาเสี่ยงเสียเกาะกูด จังหวัดตราดกันเลยทีเดียว
จึงมีปรากฎการณ์ที่รัฐบาลอยู่เฉยไม่ไหว ต้องจัดขบวนทัพออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลเจือสมกับกัมพูชา ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างตระกูลชินวัตร กับฝ่ายฮุนเซน เพื่อฮุบ-ฮั้วผลประโยชน์ทางทะเล โดยใช้ MOU 2544 เป็นเครื่องมือเจรจาแบ่งสรรผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยใน MOU ถูกมองว่าเป็นการยอมรับเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีป ที่เมื่อขีดเส้นพื้นที่ทับซ้อนก็ไปแบ่งครึ่งเกาะกูด
ทั้งหมดนี้พลพรรคเพื่อไทยมอง เป็นความพยายามลากโยงให้เป็นเรื่องการเมือง โดยคนบางกลุ่มที่เคยมีบทบาทก่อกระแสมวลชน เพื่อนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คำอธิบายชุดนี้ คุุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่ว่าการเชื่อมโยงไปถึงเกาะกูด เป็นแผนโจมตีทางการเมืองของพวกขวาสุดขอบที่แพ้การเลือกตั้ง หลังจากที่ไม่สามารถกล่าวหาเรื่องสถาบัน เรื่องทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน ก่อนจะปิดท้ายที่ว่าสังคมไทยมีประสบการณ์ อ่านขาดว่าเรื่องนี้คือการเมืองของฝ่ายขวาสุดขอบ ซึ่งรัฐบาลยังต้องรับมืออีกหลายขนาน
อีกด้าน รัฐบาลก็เปิดเกมชี้แจงต่อสาธารณะ อย่างกระทรวงการต่างประเทศออกโรงตั้งโต๊ะชี้แจง และที่เล่นใหญ่ไฟกระพริบก็คือนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร เรียกระดมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหารือก่อนนำทัพมาแถลงยืนยันเสียงแข็ง ว่าเกาะกูด ยืนยันเป็นของไทย 100% รัฐบาลไม่ยอมเสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียว อีกทั้งกัมพูชาไม่สนใจเกาะกูด ขอให้คนไทยสบายใจเรื่องนี้ แค่ความเข้าใจผิดของคนไทยบางกลุ่ม ย้ำตนเองเป็นคนไทย 100% คนไทยต้องมาก่อน……ฯลฯ
นั่นเฉพาะเรื่องเกาะกูด แต่สิ่งที่รัฐบาลยังเดินหน้าต่อไม่รอแล้วคือ ยืนยันกระบวนการเปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมี MOU 2544 เป็นเครื่องมือสำคัญในการเจรจา นั่นหมายความว่าไม่ยกเลิก MOU 2544 และเดินหน้าเจรจากันต่อไป รวมถึง MOU 2544 ไม่ได้มัดไทยรับเส้นอ้างสิทธิไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ขีดเส้นทับเกาะกูด
ล่าสุดคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความโต้นายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศที่แถลงเมื่อวาน โดยตั้งคำถามว่าเมื่อเมื่อมั่นใจไม่เสียเกาะกูด เพราะกัมพูชายอมรับเป็นของไทย แล้วทำไมกัมพูชาจึงลากเส้นเขตไหล่ทวีปผ่ากลางเกาะ และฝ่ายไทยทั้งที่รู้ดีว่าเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาเป็นแบบนี้ แต่กลับบรรจุไว้ใน MOU 2544 ซึ่งเสี่ยงเรื่องดินแดนและสิทธิประโยชน์ทางทะเลโดยไม่จำเป็นทำไม
เรื่องเกาะกูด MOU 2544 และการเจรจาผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล น่าจะเป็นเผือกร้อนที่ลวกมืออ่อน ๆ ของนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ ที่จำต้องถือไว้เพราะเป็นพันธกิจสำคัญที่ทิ้งไม่ได้
.
บทความโดย : อนันต์ จารุนันทภาคย์