จากกรณี พิรงรอง รามสูต อดีต กสทช. ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา สะท้อนปัญหาสำคัญว่าด้วยกฎหมายที่ยังไม่เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม OTT (Over-the-Top) ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง
ศาลฯ ระบุว่า บริษัท ทรูดิจิทัลเป็นกิจการ OTT (Over-The-Top หรือการให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) ไม่มีใบอนุญาต จาก กสทช. และ กสทช. ยังไม่ออกแนวปฏิบัติ ว่า แพลตฟอร์ม OTT ต้องขอใบอนุญาต จาก กสทช. แตกต่างจากจาก ผู้ประกอบการ IPTV , ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ที่ประกอบกิจการแบบใช้โครงข่าย ที่ต้องขอใบอนุญาต จาก กสทช. และมีแนวปฏิบัติ แต่การประชุม คณะอนุกรรมการฯ ทีมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นประธานได้แจ้งตรวจสอบ ทรูไอดี ที่เป็นแอปพลิเคชันบริการของเอกชน เพื่อตรวจสอบโฆษณาและเนื้อหาที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ชอบเข้าข่ายจงใจกลั่นแกล้ง
เกิดคำถาม “ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่กฎหมายไม่คุ้มครองคนปฏิบัติหน้าที่ ?” ที่สำคัญคือกฎหมายไม่เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จนกลายเป็นเหตุให้คนทำงานอยู่บนความเสี่ยง และผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น
ข้อมูลจากรายงาน Digital Stat 2021 โดย We Are Social ระบุว่า คนไทยร้อยละ 99 ชอบดูวิดีโอออนไลน์ และร้อยละ 69 อยู่บนโลกออนไลน์ โดยมีพฤติกรรมการใช้งานเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ เช่น การฟังเพลง การใช้งานโซเชียลมีเดีย เล่นเกม และอัดคลิปวิดีโอ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เองที่กลายเป็นความท้าทายของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ อาจไม่สามารถครอบคลุมถึงรูปแบบการให้บริการและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย และอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม หรือการหลอกลวงผู้บริโภค
กรณีพิพาท พิรงรอง รามสูต: บทเรียนราคาแพง
กรณีของพิรงรอง รามสูต กสทช. ที่ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความซับซ้อนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ OTT ได้เป็นอย่างดี เป็นเครื่องเตือนใจว่า จำเป็นต้องออกกฎหมายที่กำกับดูแล OTT เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีเครื่องมือในการจัดการกับเอกชนที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม