น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร บิดา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปราศรัยประกาศจะลดค่าไฟฟ้าจาก 4.15 บาทต่อหน่วยให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ว่า คาดว่าเป็นการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. โดยหวังผลทางการเมือง ซึ่งหากต้องการลดให้ได้ 45 สตางค์เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ 3.70 บาทต่อหน่วยจริง ต้องรื้อโครงสร้างราคาพลังงานทั้งหมด แต่ถ้าทำเพื่อหาเสียงด้วยการลดไขมันนิด ๆ หน่อย หรือ ปะผุโดยให้ กฟผ. ไปยืดหนี้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทั้งนี้เห็นว่านายทักษิณชอบพูดลักษณะนี้ เช่นเคยหาเสียงจะทำให้รถในกทม.หายติดภายในหกเดือนแต่ก็แก้ไม่ได้ หรือจะยกเลิกกฎหมายขายชาติ แต่พอเป็นนายกฯ ก็แปรรูป ปตท.ทันที จะเป็นแบบนี้หรือเปล่า
“การจะลดราคาให้ได้ 45 สตางค์ ต้องปรับโครงสร้างจึงจะเป็นไปได้ คนไทยบางทีก็ถูกหลอกไปเรื่อย ๆ การลดค่าไฟกลายเป็นว่าที่ผ่านมาไม่ได้แตะกำไรของเอกชนเลย แต่ปล่อยให้ กฟผ.ถูกล้วงไส้ เหลือกำลังผลิตไม่ถึง 30 % มีการผลักภาระเหมือนจะให้เจ๊งไป เห็นได้ชัดเจนจากกรณีโซลาร์ กฟผ.เสนอ 1.50 บาท แต่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. โดยการกำกับของ กฟช. คกก.นโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่นายกฯ เป็นประธาน กำหนดให้ซื้อ 2.17 บาท แปลว่าต้องการให้เอกชนรวยแล้วให้ประชาชนแบกรับใช่หรือไม่ เรื่องแบบนี้ต้องยกเลิกเลย ไม่เช่นนั้นประชาชนก็ต้องแบกรับค่าไฟแพงเหมือนเดิม“
น.ส.รสนา ยังเสนอว่าต้องสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง แต่ประเทศเรายังไม่ยอมทำ ปล่อยให้กลุ่มทุนผูกขาดและปล่อยให้ประชาชนแบกรับค่าไฟราคาแพง เวลาที่นักการเมืองพูดว่าจะลดค่าไฟก็เป็นการลดแบบยืดหนี้ ปะผุเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อคะแนนเสียง แต่หลังจากนั้นก็เหมือนเดิม หากเทียบกับเวียดนามเขาไปเร็วมาก ไม่ใช่แค่ชนะบอลไทย แต่ชนะเราเรื่องการผลิตไฟ เพราะของเขาหน่วยละแค่ 2.90 บาทเรายังบอกจะปรับลงมาได้แค่ 3.70 บาท และสิ่งที่เวียดนามจะทำคือ ภายในปี 2573 บ้านเรือน 50% ต้องติดโซลาร์ลูฟ และภายใน 25 ปีเขาจะทำให้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 38.5 % ของพลังงานทั้งหมด อังกฤษประกาศ 2573 เขาจะใช้ลมกับแดด 95 % เหลือแก๊สเพียง 5% แต่ของเราแก๊ส 70% ทำให้มีปัญหามาก เพราะการผูกขาด
ถ้ารัฐบาลไม่ได้หาเสียงชั่วคราว ต้องรื้อโครงสร้างหันไปหาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่อุดหนุนโรงงานผลิตไฟฟ้าของเอกชนโดยให้ประชาชนแบกรับภาระ พร้อมเสนอให้ยุติการซื้อพลังงานหมุนเวียนที่ราคาสูงเกิดจริงทันที เช่นกรณีซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ล่วงหน้าในราคาแพงยาวนาน 25 ปี แบบนี้ต้องถามว่า “โง่” หรือไม่ เพราะกว่าเขาจะเอาไฟเข้าระบบคืออีก 4-5 ปีข้างหน้า แต่ประชาชนต้องจ่ายแพง สังคมจึงต้องดูในทางปฏิบัติว่ารัฐบาลได้หันมาหาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าโดยไม่มีต้นทุนมากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ การส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟ สนับสนุนให้นำไฟฟ้าที่ประชานผลิตเองได้มาหักลบกับไฟฟ้าที่ใช้จาก กฟผ. เช่น เคยใช้ 400 หน่วยผลิตได้เอง 200 หน่วย เท่ากับจ่ายลดลง 50 % เป็นการลดรายจ่ายให้ประชาชนอย่างจริงจัง การลดรายจ่ายเท่ากับเพิ่มรายได้ เมื่อประชาชนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นก็จะสามารถจับจ่ายใช้สอย มีอำนาจในการซื้อดีขึ้น เพราะมีกำลังซื้อ จีดีพีก็จะขึ้นตามไปด้วย รัฐบาลไม่ต้องแจกเงินเลย ลดค่าไฟ ค่าพลังงานต่าง ๆ ที่ปล่อยให้กลุ่มทุนผูกขาดขึ้นราคาตามใจชอบ หากแก้ปัญหานี้ได้จะสามารถแก้ปัญหาค่าไฟ ค่าพลังงานแพงได้
นอกจากนี้รัฐบาลควรยกเลิกสัญญาเรื่องค่าพร้อมจ่าย พร้อมสนับสนุนให้นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงานพังทุนผูกขาดอย่างที่ได้ประกาศไว้ เริ่มจากยกเลิกโรงไฟฟ้า 7 แห่งที่ไม่ได้ผลิตแต่เราต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย จากนั้นให้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาทดแทนมากขึ้น ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายบ้างแต่คิดว่าคุ้มค่า หรือไปเจรจาต่อรองขอลดค่าความพร้อมจ่าย แลกกับการขยายสัมปทานให้ปีหรือสองปี ในระยะยาวจะคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป