ผ่านมากว่า 1 เดือนแล้วที่ชะตากรรมของ 4 ลูกเรือประมงไทย ยังอยู่ในกำมือของรัฐบาลเมียนมา และยังไร้ข่าวดีว่าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไหร่ หลังจากที่ทั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพูดที่ระบุว่า 4 ลูกเรือประมงไทยจะได้รับการอภัยโทษกลับมาตุภูมิในวันที่ 4 ม.ค.68 และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับทางการเมียนมา
ทำให้คณะกรรมาธิการการทหารฯ สภาฯ นำโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ปธ.กมธ.การทหาร สภาฯ เตรียมลงพื้นที่เกาะสองเพื่อไปเยี่ยมสี่ลูกเรือประมงไทย ในวันที่ 13-14 ม.ค.68 ซึ่งเป็นไปตามมติของกมธ.ฯ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.67 แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับถูกเบรกจากนายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ โดยอ้างเกรงจะถูกเมียนมามองว่ากดดันแทรกแซง พร้อมขอให้นายวิโรจน์ใคร่ครวญให้ดี อย่าเอาชีวิตคนมาเป็นเรื่องการเมือง
The Publisher ได้สอบถามไปยังนายวิโรจน์ ถึงประเด็นดังกล่าว ได้รับคำยืนยันว่า การจะเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ จะไม่ไปโดยพลการ มีการขออนุญาตประธานสภาฯ และขอให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยประสานงานให้อย่างเป็นทางการ แต่ตอนนี้ขั้นตอนทั้งหมดยังค้างอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ถ้าหากกระทรวงการต่างประเทศไม่ประสานให้ ก็แจ้งเหตุผลมา กมธ.การทหารฯ ไม่ได้ดึงดันว่าจะต้องไป แต่ที่เราต้องไปเพราะรัฐบาลไม่ทำหน้าที่ ฝ่ายนิติบัญญัติจึงต้องทำหน้าที่แทน
“กมธ.ฯ ต้องการไปเยี่ยม 4 ลูกเรือประมงไทย ให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง คนไทยยังไม่ลืมพวกเขา ลูกเรือประมงหลายคนมีโรคประจำตัว เราต้องการให้ข้อมูลกับทางการเมียนมาให้พวกเขาได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเหมาะสม ผมไม่ได้ต้องการกดดันรัฐบาลเมียนมา หน้าที่รัฐบาลคือพาคนไทยกลับบ้าน ถามว่าตอนนี้พวกท่านทำหน้าที่อย่างที่ควรทำหรือยัง ถ้าไม่อยากให้พวกผมไป รมว.กลาโหมกับรมว.ต่างประเทศไปมั้ยครับ ผมไม่ได้ต้องการเอาหน้า แต่คนที่ควรไปไม่ไป ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องทำหน้าที่เท่าที่ทำได้”
นายวิโรจน์ ยังมองว่าท่าทีของรัฐบาลในการแก้ปัญหาไม่มีความชัดเจนในระดับนโยบาย เราไม่เคยเห็น ครม.มีท่าทีเรื่องนี้ออกมาเลย แต่ปล่อยให้ระดับเจ้าหน้าที่ทำงานแบบลูทีน จนศาลฯ เมียนมามีคำตัดสินแล้ว ทางการไทยเพิ่งรู้จากข่าว เท่ากับไม่มีความใส่ใจในชีวิตของ 4 ลูกเรือประมงไทยใช่หรือไม่ ที่อ้างว่าญาติ ๆ ได้ไปเยี่ยมแล้ว ก็น่าจะมีเพียงตัวแทนญาติบางคนเท่านั้น เพราะตนได้พูดคุยคุณเมย์ วรรณทกานต์ พรหมนิมิต บุตรสาวของคุณถาวร พรหมนิมิต และคุณปุ้ย กมลทิพย์ มงกุฎทอง บุตรสาวของคุณสุนันท์ มงกุฎทอง สองในสี่ลูกเรือประมงไทย ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เกาะสองประเทศเมียนมา ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัด ที่พิพากษาให้จำคุกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 67 ที่ผ่านมา ซึ่งคุณเมย์ และคุณปุ้ยยืนยันว่า กรณีที่กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า มีผู้แทนญาติของลูกเรือประมงไทย ได้เข้าเยี่ยมลูกเรือประมงไทย น่าจะเป็นเพียงญาติของเจ้าของเรือ โดยที่ครอบครัวพรหมนิมิต และครอบครัวมงกุฎทอง ไม่ได้เข้าเยี่ยมด้วยที่ผ่านมา มีเพียงการพูดคุยผ่านโทรศัพท์สั้นๆ ในวันที่ 9 ธันวาคม 67 ซึ่งคุยได้เพียงไม่นานนักสายก็ถูกตัดไป ทั้งสองคนมีความเป็นห่วงในสวัสดิภาพ และสุขภาพของคุณพ่ออย่างมาก เพราะปัจจุบันคุณถาวร มีอายุ 64 ปีแล้ว ต้องพบแพทย์รับประทานยาความดันโลหิตสูง และยาลดไขมันในเส้นเลือดอยู่เป็นประจำ ในขณะที่คุณสุนันท์ ปัจจุบันอายุ 68 ปี ป่วยด้วยโรคกระดูกทับเส้นประสาท โรคเกาต์ และไขมันในเลือดสูง ต้องรับประทานยาเป็นประจำเช่นเดียวกัน ญาติเขากังวลมาก เพราะทุกอย่างที่รัฐบาลเคยรับปากคลาดเคลื่อนไปหมด เหตุเกิด 30 พ.ย. 67 บอกจะได้รับการปล่อยตัวครั้งแรก 5-6 ธ.ค.67แต่กลับถูกพิพากษาจำคุกแทน จากนั้นบอกจะได้รับการปล่อยตัว 4 ม.ค.68ก็ไม่เป็นไปตามที่ระบุ ทั้งที่คนให้ข่าวคือคนระดับนายกฯและรมว.กลาโหม ผมไม่เคยทำเรื่องนี้เพราะการเมือง แต่เราเดินหน้าเพื่อมนุษยธรรม การที่ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ ออกมาพูดแบบนี้ ก็ต้องถามว่าพวกท่านไม่เคยคิดถึงมนุษยธรรมใช่หรือไม่ แต่พวกผมทำไม่ได้ที่จะนิ่งดูดายต่อชีวิตของ 4 ลูกเรือประมงไทย ถ้าอ้างว่าต้องหารือในทางลับ อย่างน้อยต้องแจ้งความคืบหน้ากับครอบครัวลูกเรือประมงไทยอย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่ แต่ไม่มีเลยทุกอย่างเงียบเป็นสุญญากาศ เหมือนอยู่ในแดนสนธยา
“รัฐบาลขาดความใส่ใจ และไม่จริงจังต่อการนำ 4 ลูกเรือประมงไทยกลับมาตุภูมิ สะท้อนถึงความอ่อนแอของผู้นำ ซึ่งหากเป็นแค่ความอ่อนแอของคนในครอบครัวนายกฯ ก็ไม่เป็นไร แต่ความอ่อนแออย่างนี้มันส่งผลกระทบถึงลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 ชีวิต ส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งหมดว่าตกลงแล้วเกิดปัญหาว่ารัฐบาลไม่สามารถปกป้องชีวิตและสวัสดิภาพของคนไทยได้ใช่หรือไม่ ตนไม่ได้สนับสนุนการตอบโต้ที่รุนแรง หรือใช้กำลัง แต่ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนที่แสดงความใส่ใจ ดำเนินการทางการทูตที่ได้สัดส่วน ประสานให้ข้อมูลกับครอบครัวลูกเรือประมงอย่างใกล้ชิด ถ้ารัฐบาลทำแบบนี้ พวกตนในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติก็คงไม่ต้องออกมาขับเคลื่อน เพราะเราไม่ได้ด้อยประสิทธิภาพเหมือนฝ่ายบริหารที่ไร้น้ำยา”