นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ให้สัมภาษณ์ The Publisher ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร บิดา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ออกมาเปิดประเด็นนำเว็บพนันใต้ดินขึ้นมาบนดินให้ถูกกฎหมาย และรมว.ดิจิทัลฯ ออกมารับลูก ว่า รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีรายละเอียดผลกระทบและความไม่คุ้มค่าที่ต้องคิดให้รอบด้าน เราไม่เห็นด้วยแต่ถ้ารัฐบาลจะทำต้องเริ่มจากการตอบคำถามให้ชัดว่าทำเพื่ออะไร เพราะถ้าจะทำเพื่อให้สิ่งผิดกฎหมายหมดไปหรือน้อยลงจึงต้องเอาเข้ามาในระบบ ก็ต้องบอกว่าเป็นแค่ข้ออ้างเพราะในความเป็นจริงการเอาขึ้นมาบนดินไม่ได้ทำให้สิ่งที่อยู่ใต้ดินหมดไป ดีที่สุดหากต้องการให้สิ่งที่อยู่ใต้ดินลดลงก็ต้องปราบ การเอาขึ้นมาบนดินไม่มีเหตุผลมากพอที่จะทำให้พวกอยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน เพราะเขาอยู่ที่มืดทำอะไรสะดวกกว่า
ดังนั้น ข้ออ้างนี้ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด และไม่มีหลักประกันว่าสิ่งที่อยู่ใต้ดินจะลดลงหรือหมดไป นอกจากนี้รัฐบาลอาจอ้างว่าจะทำให้การคอร์รัปชันหรือส่วยหมดไป ก็ไม่ใช่การเกาถูกที่คันอีก เพราะการคอร์รัปชันไม่ว่าอยู่ใต้ดินหรือบนดินก็มีการคอร์รัปชันอยู่ดี จากการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย หรือการละเว้นกำกับดูแล เช่น ผับบาร์เปิดถูกกฎหมาย แต่เปิดเกินเวลาก็จ่ายส่วย มีการคอร์รัปชัน การเอาขึ้นมาบนดินไม่ได้หมายความว่าการคอร์รัปชันจะลดลง
“ผมคิดว่าเจตนาที่แท้จริงคือ ฝ่ายการเมืองต้องการเงินมาทำอะไรบางอย่าง การที่นายทักษิณพูดและรัฐบาลขานรับ เป้าหมายสำคัญคือต้องการเงิน และต้องถามต่อว่าเงินจะเข้ารัฐหรือฝ่ายการเมือง ตัวเลขที่พูดว่ามีถึง 1.5 แสนล้านบาทก็ไม่รู้เอาที่ไหนมาพูด คำนวณจากอะไร สมมติเป็นตัวเลขจริง ก็ยังมีตัวเลขที่ไม่ถูกพูดถึงคือการฟื้นฟูการบำบัดผู้ติดการพนันมีต้นทุนเรื่องผลกระทบทางสังคมเท่าไหร่ ตัวเลขของอเมริกามีการแบ่งปัญหาผู้เล่นพนันสองส่วนคือ คนที่เล่นแล้วเริ่มมีผลกระทบเสียการเรียน เสียการงาน ส่งผลเสียต่อครอบครัว อเมริกาประเมินต้นทุนที่ต้องดูแลอยู่ที่ 3 หมื่นบาทต่อ 1 คนใน 1 ปี และระดับติดการพนันซึ่งเป็นโรคทางจิตเวช ประเมินว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้น 3 เท่า กลายเป็น 9 หมื่นบาทต่อ 1 คน”
“ซึ่งการเล่นพนันออนไลน์มีโอกาสติดมากกว่าการเล่นพนันปกติหลายเท่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำคือโอกาสในการเพิ่มผู้ติดพนัน ซึ่งหากนำต้นทุนของอเมริกาเป็นตัวตั้ง 1 คนประมาณ 1 แสนบาทต่อปี ก่อนหน้านี้เคยมีสถิติเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประมาณการของกรมสุขภาพจิตว่า คนไทยติดการพนันประมาณ 1% ของประชากร เท่ากับเรามีผู้ติดการพนันราว 7 ล้านคน ต้นทุนต่อปีเท่ากับ 7 แสนล้านบาท สูงกว่าตัวเลข 1.5 แสนล้านที่พูดถึงอย่างมาก เห็นชัดเจนว่าไม่คุ้ม ที่สำคัญคือการทำแบบนี้เงินเข้าพกเข้าห่อใคร ใครได้ประโยชน์กันแน่ จะเก็บภาษีได้สักเท่าไหร่ รัฐบาลต้องคิดให้ดี เพราะถ้าเอาขึ้นมาแล้วเอาไม่อยู่จะรับผิดชอบอย่างไร ประเทศอื่นเขาปราบ ไม่ได้เอามาทำให้ถูกกฎหมาย”
นายธนากร ยังอธิบายความหมาย “ต้นทุนสาธารณะ” ว่า คือต้นทุนที่ทั้งสังคมต้องแบกรับร่วมกัน จากการมีคนติดพนันหรือเล่นพนันจนเป็นปัญหา เช่น ต้องเสียกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ พม. เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ไปดูแลคนเหล่านี้แทนที่จะได้ไปทำงานด้านอื่น หรือต้นทุนจากการที่คนเหล่านี้ทำงานได้ด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้ไม่คุ้มค่าจ้าง และทำให้คนอื่นต้องทำงานหนักขึ้น หรือต้นทุนจากผลกระทบที่คนเหล่านี้ไปก่อให้เกิดผลต่อผู้อื่น เช่น กระทำรุนแรงกับคนในครอบครัวหรือไปสร้างความเครียดให้แก่คนในครอบครัว ไปเบียดเบียนกู้หนี้ยืมสิน ลักขโมย เป็นต้น เหล่านี้เป็นต้นทุนผลกระทบทางสังคมซึ่งประเมินตัวเลขได้ยาก เป็นต้นทุนที่มองไม่เห็น
นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างฟิลิปปินส์กับกัมพูชา ที่ให้พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย โดยฟิลิปปินส์ มีข้อกำหนดว่าต้องหาผู้เล่นนอกประเทศ ซึ่งก็ไปมีผลกับประเทศจีน รัฐบาลจีนไม่ยอมเพราะไม่ต้องการให้คนจีนเล่นพนัน เขาคุมให้เล่นเฉพาะพื้นที่ที่คุมได้ อย่างมาเก๊าเท่านั้น กระทรวงวัฒนธรรมของจีนประกาศบัญชีดำสามพื้นที่ ที่จีนต้องการจัดการ เพราะทำให้คนจีนเล่นพนันมากขึ้นโดยสองในสามก็คือ ฟิลิปปินส์กับกัมพูชา สุดท้ายแรงกดดันก็ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ปัจจุบันกำลังจะยกเลิกการพนันออนไลน์ถูกกฎหมายแล้ว แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศเขาไม่เอา เพราะมันเป็นปัญหาคุมไม่อยู่ สิ่งที่ควรทำคือปราบไม่ใช่ทำให้ถูกกฎหมาย
.
#ThePublisherTH #สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม #รัฐบาลแพทองธาร #รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ #เพื่อไทย #ทักษิณ #ทักษิณชินวัตร #พนันออนไลน์ #พนันใต้ดิน
– – – – – – – – – – – – – – – – –