ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานบันเทิงครบวงจร กำลังเป็นประเด็นร้อนที่จุดประกายความกังวลในสังคมไทย ด้วยเนื้อหาที่อนุญาตให้มี “สถานบันเทิงครบวงจร” รวมถึงกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมกราคม 2568 ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงช่องโหว่และความไม่โปร่งใสของกฎหมายฉบับนี้
The Publisher สรุปข้อกังวลจากข้อมูลของ คุณธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเที่ยงเปรี้ยงปร้าง มีประเด็นน่าสนใจดังนี้
1. ไม่ตรงปก “สิงคโปร์โมเดล”
ลดสเป็กองค์ประกอบ: ร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดองค์ประกอบของสถานบันเทิงครบวงจรไว้ต่ำกว่ามาตรฐานสากล เช่น โรงแรมไม่จำเป็นต้องระดับ 5 ดาว ส่วนห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์ประชุมก็มีหรือไม่มีก็ได้ ต่างจาก “สิงคโปร์โมเดล” ที่มีมาตรฐานสูง สุดท้ายกลายเป็นเริ่มต้นสิงคโปร์จบแบบปอยเปต
ไม่จำกัดจำนวนกาสิโน: เปิดช่องให้มีกาสิโนได้ไม่จำกัดจำนวน สวนทางกับสิงคโปร์ที่จำกัดไว้เพียง 2 แห่ง
คนไทยเข้าถึงง่าย: กำหนดค่าธรรมเนียมแรกเข้าไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งอาจเก็บต่ำกว่านั้น หรือไม่เก็บเลย
ไม่มีกองทุนลดผลกระทบ: ขาดกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาสังคมจากการพนัน ต่างจากสิงคโปร์ที่มีกองทุนเฉพาะ
2. ซุปเปอร์บอร์ด อำนาจล้นฟ้า
นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน: คณะกรรมการนโยบายมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจอนุมัติทุกอย่าง ตั้งแต่สถานที่ตั้ง จำนวน ผู้รับใบอนุญาต ไปจนถึงอัตราภาษี
ไม่ต้องประมูล: เสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใกล้ชิด
ขาดธรรมาภิบาล: กระบวนการขาดความโปร่งใส ตัดสินใจโดยไม่รับฟังความเห็นประชาชน
3 เงินเข้ารัฐหรือเป็นตู้เอทีเอ็มให้ฝ่ายการเมือง?
ไม่กำหนดสัดส่วนรายได้: กฎหมายไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า รายได้จากกาสิโนจะต้องส่งเข้ารัฐเท่าใด
ตู้เอทีเอ็มของฝ่ายการเมือง : เมื่อไม่มีการกำหนดรายได้เข้ารัฐ อาจกลายเป็นแหล่งเงินนอกระบบให้ฝ่ายการเมืองล้วงไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง หรือกลายเป็นตู้เอทีเอ็มที่ฝ่ายการเมืองกดไปใช้ได้ตามใจชอบ
สำนักงานกำกับดูแลฯ เบิกจ่ายสูง: สำนักงานฯ มีรายได้จากค่าธรรมเนียมและใบอนุญาต รวมถึงสามารถเสนอโครงการให้บอร์ดพิจารณา ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ได้