นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ให้ข้อมูลกับ The Publisher ถึงตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีศูนย์บัญชาการอยู่ในประเทษเพื่อนบ้าน ปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมดมีสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่รัฐของไทยเข้าไปอำนวยความสะดวก มีขบวนการทุจริตปล่อยบัญชีม้าข้ามแดนไปยังปอยเปต ซึ่งจากข้อมูลของสายลับที่ส่งลงพื้นที่พบว่า มีการใช้เส้นทางธรรมชาติเก็บค่าหัวคิวนำขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่ทำบัญชีม้า เปิดซิมการ์ด เปิดธนาคาร บัญชีนิติบุคคล รวมถึงแสกนหน้าที่อาคาร 18 ชั้น และ 25 ชั้น จึงต้องการให้คณะกรรมมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาฯ ตรวจสอบ โดยได้ยื่นหนังสือถึงนายรังสิมันต์ โรม ปธ.กมธ.ฯ ไปแล้วเมื่อวานนี้ (9 ม.ค.68)
“หากไม่มีการทุจริตบริเวณชายแดน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็คงไม่ระบาดหนักเท่านี้ เราเสนอให้มีการแก้ปัญหาจุดช่องทางธรรมชาติเหล่านี้ แม้จะเป็นที่เอกชนแต่เป็นเขตพื้นที่ทหารพรานติดกล้องวงจรปิดได้หรือไม่ เพราะจะสามารถตรวจสอบได้ว่าใครออกทางช่องทางธรรมชาติบ้าง ต้องสกัดไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้บัญชีม้าได้ ถ้าไม่มีบัญชีท้าการหลอกลวงคนจะลดลงไปเองโดยธรรมชาติ ส่วนอีกจุดคือช่องจอมจังหวัดสุรินทร์ ก็มีการกินหัวคิวผ่านช่องทางธรรมชาติด้วยเช่นเดียวกัน เป็นจุดที่เราสำรวจมาแล้วจึงให้ กมธ.ตรวจสอบ ที่ไม่ยื่นให้ตำรวจหรือรัฐบาลเพราะคิดว่าไม่เกิดประโยชน์ เพราะอาจไม่สนใจข้อมูลของเรา จึงหวัดงว่ากมธ.ฯ จะตรวจสอบเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง”
นายอัจฉริยะ กล่าวด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในแต่ละวันมีการใช้ช่องทางธรรมชาติผ่านไปยังปอยเปตวันละเป็นพันคน หากเก็บหัวละสามพันไปกลับก็จะเท่ากับ 3 ล้านบาทต่อวัน 90 ล้านต่อเดือน และมากกว่าพันล้านต่อปี เป็นเม็ดเงินที่มหาศาลมาก โดยพื้นที่บริเวณปอยเปตทั้งอาคาร 18 ชั้นและ 25 ชั้น เป็นศูนย์คอลเซ็นเตอร์ที่มีคนต่างชาติคอยบัญชาการ ส่วนบัญชีท้ามีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ส่วนใหญ่ไปโดยสมัครใจไม่ใช่ถูกหลอกไปทำงานอย่างที่มีการกล่าวอ้าง แต่รู้อยู่แล้วว่าเขาให้ไปทำอะไร
“กรณีหนุ่มเมืองกาญจน์ที่ตกตึกตายเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าเป็นความพยายามหลบหนีไม่ใช่ศพแรกและไม่ใช่ศพสุดท้าย มีเหตุลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่ปกปิดข่าว เพียงแต่ตอนนี้มันปิดยาก เพราะโซเชียลมีเดียไปไว ลักษณะตึกที่นั่นจะติดเหล็กดัดหมด ถ้าจะหนีก็ต้องโดดตึกอย่างเดียว เนื่องจากจะถูกควบคุมพื้นที่กินนอนอยู่ในนั้น มีเป้าต้องหลอกให้ได้วันละกี่ราย จึงจะได้เปอร์เซ็นต์และเงินเดือน แต่พอถูกจับหรืออายัดบัญชีก็จะส่งกลับเพราะหมดประโยชน์แล้ว”
นอกจากนี้ยังขอให้กมธ.ฯ ตรวจสอบคดีปี 2565 ที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ยศในขณะนั้น) และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.ในขณะนั้น ได้มีการจับกุมกระบวนการคอลเซ็นเตอร์และการฟอกเงินของกลุ่มชาวจีน โดยได้มีการยึดอายัดทรัพย์ โดยตำรวจไซเบอร์จำนวน 700 ล้านบาท ทั้งสองกรณีนั้นมีความเกี่ยวข้องกับผับแห่งหนึ่ง และทราบภายหลังว่า เป็นชาวจีนที่สวมบัตรประชาชนไทย แต่กลับมีการปล่อยตัวไปโดยไม่มีความผิด รวมทั้งทรัพย์สินเงินสดมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท และรถของกลางทั้งหมดก็ได้คืน ไม่ได้มีการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาอย่างใดแม้แต่รายเดียว เกิดคำถามว่าเรื่องนี้ส่อทุจริตหรือไม่ จึงนำมายื่นต่อคณะกรรมาธิการให้ตรวจสอบ เพราะการที่แถลงใหญ่โตว่ามีการจับกุมกว่า 700 ล้านบาท แต่ไม่มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีแม้แต่รายเดียว
“ถามว่าข่าวที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ร่วมกันแถลงใหญ่โตในช่วงเวลานั้น แต่กลายเป็นว่าไม่มีผู้ต้องหาทำผิดแม้แต่คนเดียวแถมยังคืนทรัพย์สิน 500-700 ล้านบาทไปด้วย มีกี่เคสที่จับแถลงแล้วปล่อยอายัด ไม่ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา แบบนี้คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากส่อว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นเจ้าของพื้นที่ ใช้อำนาจอะไรในการคืน แล้วไซเบอร์ทำไมจึงอนุมัติตามที่มีการร้องขอ จะให้เชื่อได้อย่างไรว่าไม่มีผลประโยชน์ ผมหวังว่า กมธ.ฯ จะสอบให้ได้ข้อมูลว่าการถอนอายัดเกิดได้อย่างไร คืนทรัพย์สินกันแบบไหน ทำไมจึงไม่มีการดำเนินคดี ตรวจสอบอย่างไรถึงไม่ผิด ถ้าไม่เคลียร์ต้องดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง จะได้รู้ว่าที่แถลงกันไปใหญ่โตเป็นแค่ปาหี่ระดับประเทศ”