จากกรณีการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี สมัยที่ 2 ของ “โดนัล ทรัมป์” จะสร้างความตื่นตัวให้กับคนในประเทศขนาดไหน เจตนารมณ์อันแรงกล้าของทรัมป์จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลกอย่างไร นโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อคนทั่วโลกหรือไม่ The Publisher มีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ถึงประเด็นนี้ ที่มาร่วมเปิดมุมมองทิศทางการเมืองสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเข้มข้นไม่แพ้ประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน
วันแรกของคำสั่งจาก “ทรัมป์” เขย่าโลกขนาดไหน
“ถือเป็นการปลดล็อคแบบฉุกเฉินในคำสั่งเดิม ๆ ที่ทางทรัมป์มองว่าจะทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้ตามที่หาเสียงไว้ อย่าง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่พรมแดนทางตอนใต้ติดกับเม็กซิโก เมื่อประกาศแล้ว ทำให้เขาสามารถเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปประชิดชายแดนแล้วสั่งยุติการไหลเข้ามาด้วยนโยบายของโจ ไบเดน ทำให้ทรัมป์สามารถยืนยันกับผู้ที่ลงคะแนนว่าเขาได้ทำตามที่เขาหาเสียงไว้อย่างรวดเร็ว นับเป็นวิธีการของฝ่ายบริหารที่ใช้ ในการยกเลิกคำสั่งเดิม ซึ่งรวมแล้วก็น่าจะประมาณ 100 คำสั่งในวันแรก ๆ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากในสมัยของไบเดนออกคำสั่งในลักษณะนี้ ไม่มากในสัปดาห์แรกนะครับ ก็จะวันประมาณ 20 กว่าคำสั่งเท่านั้นเอง” รศ.ดร. ปณิธาน กล่าว
เมื่อถามถึงท่าทีความตึงเครียดที่หลายคนคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นกับจีน แต่กลับเกิดบริเวณชายแดนแคนาดาเม็กซิโกก่อน ทาง รศ.ดร. ปณิธาน กล่าวว่า “วานนี้ทางเม็กซิโกก็น่าจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเหมือนกัน เพื่อที่จะรองรับ สถานการณ์ที่แปรปรวน เพราะฉะนั้น จะเห็นชัดเจนว่ามีการจัดระเบียบชายแดนจัดระเบียบภายในประเทศ แล้วก็คงจะขยับไปจัดระเบียบในเรื่องการค้าและการต่างประเทศ หลังจากที่ฝ่ายบริหารชุดใหม่ได้เข้าไปเห็นตัวเลขที่ชัดเจนแล้วก็ปรับตัวเลข แต่ยังไม่ใช่กลัวตัวเลขเรื่องของภาษี 25% ที่จะต้องเพิ่มขึ้น ก็ออกมาบ้างแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นไปตามสุนทรพจน์ใน 3 กลุ่ม ในการพูดถึงเรื่องฝ่ายความมั่นคง ตามด้วยเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องทางสังคม นโยบาย รวมถึงความหลากหลายต่าง ๆ ที่เขาจะยกเลิก ก็เป็น 3 ส่วน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานและแนวคิดที่ทรัมป์ต้องการจะให้อเมริกันกลับมาเข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์อีกครั้ง”
Donald J. Trump Attends the Presidential Parade https://t.co/xath35WNXE
— Donald J. Trump (@realDonaldTrump) January 20, 2025
ส่อแวว “ทรัมป์” มีท่าทีผ่อนปรนกับ “จีน”
รศ.ดร. ปณิธาน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า สำหรับระยะกลางและระยะยาวยังน่าเป็นห่วง ในสถานการณ์ที่เรียกกันว่าเป็นสงครามแบบเบ็ดเสร็จที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับจีน เพื่อป้องกันไม่ให้จีนทะยานขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจหมายเลข 1 ภายในอีกหลาย 10 ปีข้างหน้า แต่ระยะสั้น การตอบรับของจีนน่าจะดีกว่าที่หลายคนคิดหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันโดยตรงของ 2 ประธานาธิบดี ซึ่งการส่งรองประธานาธิบดีจีนเข้ามาร่วมพิธีสาบานตนก็เป็นสัญลักษณ์ที่จีนต้องการให้เห็นว่ามีความยืดหยุ่น การเจรจาจบลงค่อนข้างดีในเรื่อง TikTok หลังจากที่ได้มีการระงับการใช้งานไประยะหนึ่งแล้วมีการตกลงกันในการร่วมทุน แล้วก็อนุญาตให้ TikTok ได้กลับมาเปิดใช้อีก ถือเป็นสัญญาณที่อ่อนข้อให้ในช่วงแรกนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามากนักในเรื่องของการค้า แต่ระยะยาว แน่นอนว่าทางจีนเองก็จะต้องการทะยานขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 อยู่ดี เพราะฉะนั้นทางสหรัฐฯ ก็คงจะต้องมองวิธีการที่เข้มข้นรุนแรงในระยะกลางและระยะยาวที่จะสกัดไม่ให้จีนทำแบบนั้น ซึ่งหลายเรื่องก็มีการพุ่งเป้าไปยังจีน โดยที่ไม่ต้องพูด ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบโลกใหม่ทางความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ แล้วก็เลือกที่จะรวมพันธมิตร รวมทั้งไทย ที่มีการระบุเข้าไปชัดเจนในการให้ปากคำของรัฐมนตรีต่างประเทศ และอาเซียนที่จะเข้ามาร่วมงานกับอเมริกันในลักษณะที่ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อปิดล้อมจีนนั่นเอง
การที่ “อเมริกา” ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก รวมถึงองค์กรด้านสภาพภูมิอากาศ สร้างความสะเทือนให้กับโลกอย่างไร
“แม้จะช็อกเวฟในช่วงแรกแต่เขาก็มองว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แทนที่จะพยายามเจรจากับองค์กรเหล่านี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายเพื่อลดการสนับสนุน อย่างเช่น องค์การอนามัยโลกจากประมาณเกือบ 20% ลงมาก็คงจะได้ไม่มากแต่การใช้วิธีการแบบนี้ จะทำให้เขาเริ่มต้นจาก 0 จากนั้นอาจจะทยอยกลับไปช่วยเหลือองค์กรเหล่านี้ได้ ในลักษณะที่เขามีแรงกดดันที่ได้เปรียบกว่า ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเพิ่มงบประมาณในช่วงต่อไปในบางส่วน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วองค์กรเหล่านี้ก็อาศัยสหรัฐฯ ทำงาน ซึ่งทางสหรัฐฯ เองก็อาศัยองค์กรเหล่านี้ทำงานในทางกลับกัน แต่ว่าค่าจ่ายที่สูงขึ้นและไม่สามารถลดลงได้เลย อีกทั้งยังมีผลงานออกมาน้อย ที่สำคัญที่สุดองค์กรเหล่านี้ก็ไปขัดแย้งกับสหรัฐฯ โดยตรงในหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะทำให้องค์กรเหล่านี้อยู่ในกำกับ ในการจัดระเบียบโลกก็คือการดึงปลั๊กออก ระงับงบประมาณชั่วขณะ รวมทั้งเรื่องของโลกร้อนในข้อตกลงของสัญญาปารีสเป็นวิธีการของทรัมป์ในการที่จะเขย่าโลก ถือเป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขของใหม่ของตัวเอง ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเจรจาลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเคยทำมาแล้วหลายครั้งแล้วก็ไม่สำเร็จ” รศ.ดร. ปณิธาน กล่าว
ซึ่งในความเป็นจริงการถอนตัวออกจากองค์กรเหล่านี้เป็นเรื่องยาก เนื่องจากระบบการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ฐานการพัฒนาต่าง ๆ ก็อยู่ในสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นการร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกก็จะดีกับสหรัฐฯ ในภาพรวม เนื่องจากจะได้จับตาและเฝ้าระวังในเรื่องของโรคระบาดใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคอุบัติใหม่ ซึ่งหากไร้เครือข่ายก็ทำงานได้ยาก ทางที่ดีฝ่ายผู้บริหารใหม่ของทรัมป์ต้องส่งสัญญาณอันชัดเจนให้องค์กรเหล่านี้เข้ามาอยู่ใต้การกำกับให้มากขึ้น
เมื่อถามถึงประเด็น “LGBTQ+” ในรัฐบาลทรัมป์ รศ.ดร. ปณิธาน ตอบในประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ความจริงแล้วประเด็นนี้มีที่มาที่ไปมานานแล้ว เนื่องจากการที่เงินของรัฐบาลกลางรั่วไหลไปยังโครงการความหลากหลายต่าง ๆ เหล่านี้ควบคุมไม่ได้แล้วก็ขยายมากขึ้น ‘รัฐบาลโจ ไบเดน’ ได้เซ็นข้อตกลงออกพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับ ซึ่งความเป็นจริงการออกคำสั่งประธานาธิบดีในด้านบริหารก็ยังไม่ได้ช่วย เขาต้องออกพระราชบัญญัติใหม่ เพื่อสกัดไม่ให้โครงการเหล่านี้เดินหน้าต่อไป หมายความว่าโครงการเหล่านี้จะต้องโดนลดงบประมาณแล้วก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกทั้งหมด เพราะว่าหลายโครงการก็เดินไปแล้ว อย่างเช่น โครงการเรื่องให้การศึกษา โครงการพัฒนาศักยภาพ ยกตัวอย่างเช่น ทางด้านสาธารณสุข ถ้าไปยกเลิก คนเหล่านั้นก็ต้องยุติการเรียน ยุติการศึกษา ยุติการผลิต บุคลากรที่สำคัญที่มาจากโควตาเหล่านี้ ก็ยังทำไม่ได้ทั้งหมดอยู่ดี แต่ว่าเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาจะลดงบประมาณและควบคุมวิถีตรงนี้
ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ส่งผลทางการเมืองในระยะสั้นก็คือการทำให้เห็นว่าการเข้ามาควบคุมอำนาจนั้นจริงจัง ซึ่งก็เป็นการส่งสัญญาณเพื่อเขย่าให้อีกฝ่าย หรือ เดโมแครต และข้าราชการประจำที่ยังเชื่อว่ารีพับบลิกันไม่เอาจริง ได้เข้าใจอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่ามันสะเทือนไปยังเม็กซิโก และแคนาดาที่อเมริกาพยายามจะผนวกเข้ามาเป็นระบบเดียวกัน แม้ในความเป็นจริงก็แทบจะเป็นระบบเดียวกับอเมริกาอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นการส่งสัญญาณระยะสั้นในช่วง 100 วันแรกว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่ 2 นั้นเข้มข้นกว่าเดิมตามความชอบทำที่ค่อนข้างเข้มข้นที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
การส่งสัญญาณวันแรกภายใต้การบริหารของ “ทรัมป์” สร้างความปั่นป่วน ?
“แรงกระเพื่อมมีผลอยู่แล้ว อย่างเช่น ตะวันออกกลาง การเจรจาปล่อยตัวประกันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทีมของทรัมป์ได้เข้าไปช่วยบริหารแล้วก็ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ ส่วนยูเครน รัสเซียคงจะต้องรอเวลาให้ทางทีมของทรัมป์เข้าไปเจรจาโดยตรงกับทางประธานาธิบดีปูตินนอกรอบ แล้วก็คงจะประกาศความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าเขาได้เจรจากับทางฝ่ายยูเครนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตรงนั้นก็เป็นจุดที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน เพราะว่ารัสเซียก็มีความเข้มแข็งมากขึ้นเยอะ อีกทั้งมีความได้เปรียบหลายอย่าง ทั้งทางการทหาร ทั้งพันธมิตรกับจีน แล้วก็ทั้งในภาพรวมกับยุโรปที่อ่อนแอลงเยอะ เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ ก็ค่อนข้างที่จะระมัดระวังตัว แต่ว่าแรงกระเพื่อมเหล่านี้ สุดท้ายแล้วเป้าหมายสำคัญก็คือจีน ขณะนี้ก็เริ่มที่จะลดความเข้มข้น แล้วเพิ่มแนวทางในการต่อรองหลังจากที่จีนเคยล้มกระดานเคยยึดตลาด แล้วก็เคยพยายามเดินหน้าในหลายเรื่องอย่างค่อนข้างที่จะแข็งกร้าวกับหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งสัญญาณตรงนี้จะดีกับโลกระยะสั้นว่าจีนตัดสินใจไม่เผชิญหน้าปะทะโดยตรงกับสหรัฐฯ แล้วก็ทำให้มีพื้นที่ในการเจรจาต่อรองอาจจะเป็นผลดีกับหลายประเทศรวมทั้งไทยที่ในอดีตที่ผ่านมาต้องมีปัญหากับจีนเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจีนเทา การระงับนักท่องเที่ยวเข้ามาเรื่องการกดดัน เรื่องลุ่มแม่น้ำโขง เรื่องอุยกูร์ เรื่องเหล่านี้อาจจะทำให้จีนบันยะบันยัง แล้วก็ชะลอความแข็งก้าวลงนะครับ นี่ก็เป็นผลพวงที่ดีที่สหรัฐฯ พยายามแก้ปัญหาและจัดการกับจีนในระบบโลก” รศ.ดร. ปณิธาน กล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. ปณิธาน มองว่า สุดท้ายแล้วระยะกลางระยะยาว หลายฝ่ายก็ยังเชื่อว่าไม่มีใครดุนและคานจีนได้ ถ้าจีนใหญ่ขึ้นมาจริง ๆ เศรษฐกิจ ความเข้มแข็งทางทหารก็จะตามมาโดยปริยาย ซึ่งแนวทางออกของสหรัฐฯ ก็คือจะพยายามทำให้ตัวเองเข้มแข็งแล้วก็ป้องปรามจีน ทำให้จีนชะลอตัว และในที่สุดจีนก็อาจจะตัดสินใจไม่ขึ้นแข่งเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 กับสหรัฐฯ แต่ว่าทุกคนก็ยังไม่เชื่อว่ามันจะเป็นอย่างนั้นทั้งหมด ยังไม่เชื่อว่าทางสหรัฐฯ จะทำได้ จะกลับมาเข้มแข็งจริงๆ สามารถที่จะสกัดจีนแล้วก็ป้องปรามจีนได้ เพราะว่าธรรมชาติเติบใหญ่ของจีนมันเป็นเรื่องในเชิงโครงสร้าง มันเป็นเรื่องในเชิงระบบ แม้แต่ผู้นำจีนไม่ว่าจะคนนี้หรือคนใหม่จะเข้ามาพยายามทำให้จีนชะลอตัวลง แล้วก็ไม่ยอมขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ก็คงจะเป็นไปได้ยาก ซึ่งตรงนี้ก็จะเหมือนกับสถานการณ์ในช่วงก่อนสงครามโลกสองครั้ง ของญี่ปุ่น ของเยอรมันก็จะคล้ายกัน
คำจำกัดความ “การบริหารประเทศในแบบของทรัมป์”
รศ.ดร. ปณิธาน มองว่า สำหรับแฟนคลับพรรคคงเรียกได้ว่า “ไม่ผิดหวัง” แถมยังเลยไปไกลกว่าที่หลายคนคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ LGBTQ+ หรือ เรื่องการจัดระเบียบในทวีปอเมริกา เรื่องการทุบนวดพันธมิตรตัวเองในยุโรป รวมถึงการที่ “เมลาเนีย ทรัมป์” สุภาพสตรีหมายเลข 1 ผู้เป็นภรรยาเดินเข้ามายังกับราชินียุโรป สร้างความตื่นตะลึงกลางงานสาบานตน เห็นได้ชัดว่ามีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี ทั้งหมดเหล่านี้น่าจะมาจาก “อีลอน มัสก์” ซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์ ฟังเสียงผู้คน หลาย 100 ล้านคน ผ่านระบบเครือข่ายเอไอสมัยใหม่ ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่าวิธีการเอาชนะใจคน วิธีการหาเสียง ทั้งหมดไม่ใช่การหาเสียงรูปแบบเก่าหรือคิดเอาเอง แต่มันคือการประมวลผลโดย AI ผ่านการฟัง หรือ Social Listening คิดโดยการตอบรับของคนที่ดูจาก Big Data ที่อีลอน มัสก์มี ซึ่งพิมพ์เขียวตรงนี้อาจจะมาจากเลือกตั้งสมัยที่แล้ว เป็นหนังตัวอย่างตอนสมัยที่รัสเซียเข้ามาเจาะฐาน แล้วก็คำนวณดูว่าจะชนะแพ้กันยังไง แล้วก็หลังจากนั้นสหรัฐฯ กับจีนก็คงเอาไปพัฒนาทำขึ้นมา อีกทั้งการพีอาร์ประธานาธิบดีคนนี้ส่วนหนึ่งก็ผ่าน TikTok ด้วย เพราะถูกจำกัดโดยสื่ออื่น เพราะฉะนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะทำลาย TikTok ซึ่งเป็นฐานความเข้มแข็งของทรัมป์ แต่ทรัมป์ต้องการแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถควบคุม TikTok ได้
จุดอ่อนของ “ทรัมป์”
ในเรื่องนี้ รศ.ดร. ปณิธาน ให้มุมมองออกเป็น 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 คือ ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในครอบครัว กับกลุ่มผลประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ผู้นำของบริษัทไฮเทค บริษัทยักษ์ใหญ่ในเรื่องทุน บริษัทน้ำมันบริษัทข้ามชาติ ถ้าจะบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ต้องผ่านกลุ่มนี้ ซึ่งจะนับเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง เป็นบททดสอบระบบอเมริกันว่าจะป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนแบบลึกซึ้ง แล้วก็เข้มข้นที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันได้หรือเปล่า ทั้งครอบครัวและกลุ่มนายทุนที่อาจเข้ามาควบคุมการบริหาร อย่างเช่น อีลอน มัสก์ที่จะเข้ามาดูแลหน่วยงานใหม่ที่จะควบคุมงบประมาณของรัฐบาลกลางทั้งหมด
ประเด็นที่ 2 สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบพลิกแผ่นดิน พลิกประวัติศาสตร์อเมริกัน ในลักษณะแบบนี้ในที่สุดแล้วอาจจะเป็นชนวนไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายเร็วเกินไปก็ได้ แต่ว่าทรัมป์ก็เข้าใจดีเพราะเป็นนักต่อรอง เป็นนักธุรกิจ ซึ่งทรัมป์ไม่อยากที่จะเข้าสู่สงครามตามที่ประกาศไว้ในสุนทรพจน์อย่างชัดเจนว่าจะไม่ก่อสงครามใหม่ จะเข้มแข็ง แล้วก็ป้องปรามไม่ให้สงครามใหม่เกิดขึ้น แต่ว่าไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะเกิดอุบัติเหตุหรือเปล่า อย่างเช่นการยึด หรือ เข้าไปขยายฐานทัพในกรีนแลนด์อาจจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับรัสเซียมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น เพราะตรงนั้นไปเป็นจุดเฝ้าระวังรัสเซียอยู่แล้วตามสนธิสัญญา 1951 ที่มีกับเดนมาร์ก แต่ถ้าไปขยายฐานตรงนั้นมาก รัสเซียก็จะรู้สึกได้ถึงภัยคุกคามทันที ซึ่งความรู้สึกถึงภัยคุกคามของรัสเซียเกิดขึ้นมาแล้วกับสหรัฐฯ เกิดขึ้นมาแล้วกับต่อเยอรมัน ต่อฝรั่งเศส คงจะต้องดูอีกทีว่า อะไรจะเกิดขึ้น
ส่วนประเด็นที่ 3 คือ ประเด็นที่ทุกคนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะสำเร็จ คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกสัญชาติคนที่เกิดในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เรื่องเหล่านี้ มันอาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าหากว่าเขาไม่สามารถที่จะลดค่าใช้จ่าย ขุดน้ำมัน เอามาขายแล้วก็ลดราคาพลังงานได้จริง ๆ หรือว่าลดเงินเฟ้อได้ ทั้งหมดเหล่านี้มันจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาเร็วกว่าที่คิด
ความหวังที่สูงมากอาจจะกลับไปทำลาย “ทรัมป์” เอง ?
รศ.ดร. ปณิธาน ให้คำตอบอย่างหนักแน่นว่า สุดท้าย “ปัญหาของทรัมป์ก็คือตัวทรัมป์เอง” วิธีการคิดวิธีการทำงาน และในสุดก็จะเป็นปัญหากับตัวเขาเอง คล้ายกับปัญหาของจีนก็คือตัวจีนเอง ไม่ใช่คนอื่นที่จะไปทำลายจีน วิธีการคิดของจีน วิธีการล้มกระดานต่าง ๆ ก็ทำให้จีนขณะนี้ประสบกับปัญหาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเหมือนกัน