.
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีดรามาสนั่นเมืองจากกรณีโลกออนไลน์ให้ข้อมูลว่า หลังประเทศไทยถอนข้อสงวนข้อ 22 ของสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิของเด็กผู้ลี้ภัย จะทำให้เด็กที่เกิดในไทยได้สัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ ร้อนถึง ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องออกโรงชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เด็กที่เกิดในไทยไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่พึงได้รับการคุ้มครอง ดูแล ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทั้งเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข พร้อมเปรียบเปรยให้คิดถึงถ้าคนไทยไปตกระกำลำบากอยู่ต่างแดน ก็จะได้รับการดูแลจากประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญานี้ด้วยเช่นเดียวกัน
.
กรณีดังกล่าวจึงไม่น่ากังวลเท่ากับเด็กเกิดใหม่จากแรงงานต่างชาติในไทย ที่นับวันจะยิ่งมีจำนวนมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานต่างด้าว ณ เดือนสิงหาคม 2567 มีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร 3,346,665 คน ซึ่งแน่นอนว่ายังมีแรงงานต่างด้าวแฝง โดยเฉพาะจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายอีกจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่สามารถควบคุมได้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะทัศนคติของแรงงานไทยที่เลือกงานมากขึ้น ทำให้ขาดแคลนแรงงานระดับล่าง จนเกิดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวสูงขึ้นตามลำดับ
.
.
ปัญหาที่ตามมามีในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการเน้นใช้แรงงานราคาถูก กระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน เสี่ยงที่จะถูกกีดกันทางการค้าจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และยังเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุขด้วย นี่ยังไม่นับรวมเรื่องอาชญากรรม และสถานภาพตามกฎหมายของเด็กที่เกิดในประเทศไทยด้วย
.
แม้เด็กเหล่านั้นจะไม่ได้สัญชาติไทย แต่ยังได้รับสิทธิให้เรียนฟรีถึงภาคบังคับ และการให้บริการสาธารณสุขตามหลักมนุษยธรรม เกิดคำถามว่างบประมาณที่มีจำกัดของประเทศ ประกอบกับโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าปีนี้ จะมีจำนวนผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปราว 14.6 ล้านคน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น แต่เรายังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ ว่าจะรับมืออย่างไร
.
ตรงกันข้ามกลับเขียนนโยบายสวยหรูถึงการสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ
.
คำแถลงนโยบายของนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ ต่อรัฐสภารวม 85 หน้า โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนแทบจะลอกเลียนมาจากการแสดงวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ขณะที่นโยบายด้านดับไฟใต้เขียนไว้เพียงแค่หนึ่งบรรทัด ส่วนเรื่องการแก้คอร์รัปชันถูกลืมไป ไม่มีกำหนดไว้ทั้งในรัฐบาลเศรษฐา และรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ หรือนี่จะเป็น DNA ที่สืบสันดานจากพ่อสู่ลูก เพราะยุคพ่อก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกัน จนมีรัฐมนตรีติดคุกจากการทุจริตประพฤติมิชอบเกลื่อน ครม.
.