กลายเป็นดรามาที่ทำเอาหัวใจคนรักสัตว์แทบแหลกสลาย หลังละครฟอร์มยักษ์แห่งปีของช่อง one31 อย่างเรื่อง “แม่หยัว” มีฉากแมวดำตัวหนึ่งโดนยาพิษก่อนจะชักกระตุกตายคาที่
โดยฉากนั้นแมวดำตัวดังกล่าวมีอาการกระตุกเกร็ง ตัวโก่ง ดวงตาเลื่อนลอย สมจริงจนเกิดการตั้งคำถามจากแฟนละครรวมถึงความเหมาะสมของการถ่ายทำ จากนั้นก็ได้มีหนึ่งในทีมงานได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า “น้องแมวไม่ได้ตุยจริงน๊า เราวางยาสลบแมว แต่ตอนถ่ายทำ แล้วน้องขย่อน กระตุกๆ คือนึกว่าตายจริง ป้าจ๋ากับน้องเฟิร์น หน้าถอดสี ตกใจจริง ๆ” ซึ่งประเด็นนี้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมมากมาย ส่งผลให้แฮชแท็ก #แบนแม่หยัว พุ่งทะยานจนติดเทรนด์ X เกิดกระแสการเรียกร้องให้ทางช่องถอดละครเรื่องดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้สปอนเซอร์ถอนตัว ไม่สนับละครที่ทารุณกรรมสัตว์ วางยาสัตว์เพื่อความบันเทิง ร้อนถึงทางช่อง one31 ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น
ด้าน “สัตวแพทยสภา ประเทศไทย” ได้โพสต์ข้อความถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยได้กล่าวถึงความอันตรายและข้อควรระวังในการวางยาสลบสัตว์ ระบุว่า “การวางยาสลบในทางสัตวแพทย์เป็นกระบวนการที่ทำให้สัตว์เกิดสภาวะหมดความรู้สึกของร่างกาย การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลงหรือหมดไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหัตถการต่อสัตว์ในการป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคที่สัตวแพทย์ไม่สามารถกระทำในขณะที่สัตว์รู้สึกตัวได้ หรือนำมาใช้ในการจับบังคับสัตว์ที่ควบคุมได้ยากเพื่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นต้น”
“โดยการให้ยาสลบนั้นมีสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายประการ เนื่องจากฤทธิ์ของยาที่นอกเหนือไปจากการทำให้สัตว์หมดสติแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงต่อระบบบไหลเวียนโลหิต และระบบทางเดินหายใจ ที่ถูกกดการทำงานมากขึ้น เมื่อระดับการสลบลึกขึ้น ผลข้างเคียงจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของยาสลบและยานำสลบที่ใช้”
“การประเมินสุขภาพสัตว์อย่างละเอียดรอบคอบครบถ้วนสมบูรณ์นั้น จึงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์จะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ ในการนำมาวางแผนเตรียมตัว ปรับสภาพร่างกายสัตว์ให้มีความพร้อมต่อการรับการวางยาสลบ และเลือกใช้ชนิดยาในการวางยาได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสของการเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้”
“นอกจากนี้ พึงตระหนักว่าภาวะแทรกช้อนในการวางยาสลบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นให้ยานำสลบกลุ่ม premedication ขณะเหนี่ยวนำการสลบ ขณะคงภาวะสลบ ไปจนกระทั่งระยะพักฟื้นหรือขณะสัตว์ตื่นจากการสลบ ดังนั้น การวางยาสลบสัตว์จึงควรดำเนินการ หรือควบคุมการดำเนินการอย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์”
“และควรมีการวางแผนให้มีอุปกรณ์และผู้เฝ้าระวังติดตามสัญญาณชีพของสัตว์ อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา มีการปรับระดับความลึกของการสลบให้เหมาะสม และมีการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านอุปกรณ์ สารน้ำ และเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาแทรกช้อนเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที การกระทำที่ไม่รอบคอบหรือไม่มีการวางแผนเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้อง หรือการวางยาสลบในสัตว์โดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงให้สัตว์ได้รับอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้”
สุดท้ายนี้ The Publisher ขอฝากเอาไว้ อยากให้ทุกท่านพึงระลึกไว้เสมอ 1 ชีวิตก็มีค่า แม้ชีวิตนั้นจะเป็นเพียงแค่สัตว์เดรัจฉาน เขาพูดไม่ได้ เขาปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ผู้เป็นถึงสัตว์ประเสริฐจะปฏิบัติต่อชีวิตของเขาอย่างไรก็ได้