พรุ่งนี้ 12 ธันวาคม 2567 วันที่นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” จะแถลงผลงาน 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนายกฯ คุณหนูจะผ่านโปรหรือไม่? วันนี้เราคุยกับ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ นิด้า จะว่าอย่างไร… ไปดูว่า นายกฯ คุณหนู สอบผ่านหรือไม่
The Publisher: วิเคราะห์สามเดือนของคุณแพทองธารมีอะไรให้แถลงเป็นผลงานบ้าง?
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต: สามเดือนถ้าให้คาดการณ์สิ่งที่นายกแพทองธารยกแถลงขึ้นมาเป็นผลงาน ชิ้นแรกแล้วคิดว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ก็น่าจะเป็นแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนรวมทั้งแผนที่จะแจกต่อไปในอนาคตด้วยนอกจากนั้นเรื่องอื่นที่เค้าอาจจะหยิบยกมาก็ อย่างเช่น เรื่องที่เขาแก้กฎหมายแก้ระเบียบให้ แจกเงินกับผู้ประสบภัย อันนั้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาอุทกภัยภาคเหนือ ถ้าเป็นกฎหมายผมคิดว่าที่เขาจะหยิบยกขึ้นมาอาจจะเป็นเรื่องสมรสเท่าเทียมจะหยิบยกมาเป็นประเด็นได้เหมือนกัน รวมทั้งซอฟพาวเวอร์ที่มีการผลักดันงบประมาณไปร่วม 5 พันล้าน เรื่องแจกเงิน 10,000 บาท เป็นเรื่องที่ดัดแปลงมาจากเงินดิจิตอลที่ใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงที่แจกกลุ่มเป้าหมายไป 14.5 ล้าน ซึ่งเป็นการแจกเงินที่ต่ำกว่าเป้าหมายจากตอนแรก 40-50,000,000 ดูเหมือนว่าจะแจกพร้อมกันครั้งเดียวไปเลย คราวนี้แจกทีละส่วน ตอนนี้ทำไปแค่ 1 ใน 3 ของกลุ่มเป้าหมาย เพราะงั้นเรียกได้ว่ายังไม่บรรลุเป้า งานนี้ไม่ได้เป็นงานที่เพิ่งเกิดขึ้น 3 เดือนในรัฐบาลแพทองธาร ต้องนับตั้งแต่รัฐบาลคุณเศรษฐา เกือบ 2 ปี แจกได้ประมาณ 1 ใน 3 แต่ว่าห่างเป้าไปค่อนข้างจะเยอะทีเดียว ถ้าเป็นคะแนนในเรื่องของประสิทธิภาพก็ถือว่าประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ ถ้าให้คะแนนแบบตัดเกรดก็ได้ 3 เต็ม 10 เพราะว่าทำได้ประมาณ 1 ใน 3 ในเรื่องอื่น ๆ
ซอฟพาวเวอร์ก็ไม่มีอะไรที่โดดเด่น ถ้าเห็นก็เห็นแต่เรื่องของหมูเด้ง แต่ว่าเรื่องหมูเด้งก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลมันก็เป็นเรื่องความน่ารักของสัตว์แล้วก็ฝีมือของคนเลี้ยงในการส่งเสริมให้เกิดกิจการการท่องเที่ยวคึกคักขึ้นมาโดยเฉพาะการท่องเที่ยวในเรื่องของประเภทการท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้างขึ้น ก็คือสวนสัตว์ เรียกได้ว่าเป็นการดึงดูดคนเข้ามาให้คนรู้จักประเทศไทย แล้วก็เข้ามาประเทศไทย แต่ว่าอันนั้นก็ไม่ได้อยู่ในแผนต่าง ๆ ของรัฐบาลถ้าเกิดเค้ามีแผน อันนี้แนะนำไปเผื่อจะไปทำเพิ่ม เช่น การฝึกทักษะของคนเลี้ยง ความเชี่ยวชาญ มุ่งแสวงหาหยิบเอาความน่ารักของสัตว์มาขาย
ดังนั้น ก็อาจจะเป็นแนวที่เค้าทำต่อไปได้ถ้าเขาเห็นว่าตรงนี้เป็นจุดขายในอนาคต ก็มีสัตว์น่ารักประจำจังหวัดทุกจังหวัดส่วนสิ่งที่เขาไม่ได้ทำหรือว่าทำแบบ อืดอาด เบี่ยงเบน อย่างเช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ ไปไม่ถึงไหนมีแนวโน้มว่าไปไม่ค่อยได้ไม่ทันในสมัยนี้ด้วย อันนี้เราก็เห็นความยืดเยื้อ เลื่อนมาตั้งแต่เรื่องของการทำประชามติ แค่หัวข้อในการทำประชามติ ต้องตั้งเป็นคณะกรรมการซะใหญ่โตใช้เงินไปก็มากพอสมควรอันนี้จริง ๆ ผลลัพธ์ออกมาก็เป็นคำถามบรรทัดสองบรรทัดให้นักศึกษาปริญญาโทช่วยคิดก็ได้ไม่ต้องเสียเงินมากมาย
ส่วนประเด็นที่เป็นโครงสร้างเขาแทบจะไม่ทำ แล้วก็ไม่แตะใด ๆ เลย อย่างรัฐธรรมนูญเป็นโครงสร้างทางการเมือง ก็คือโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ได้แตะอะไรแม้แต่นิดเดียว อย่างเช่น การทำให้เกิดการลดการผูกขาด จะทำยังไงยังไม่เห็นว่าจะมีแผนงานนโยบายใด ๆ หรือ ในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ตอนนี้ก็มีการเริ่มคิดแล้วแต่ไม่รู้จะทำถึงไหน เพราะว่าการปรับโครงสร้างหนี้ต้องอาศัยความร่วมมือเจ้าหนี้ด้วยแล้วก็พฤติกรรมของคนที่เป็นลูกหนี้มันก็มีความซับซ้อนซึ่งตอนแรกในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าคุณเศรษฐาพยายามแก้หนี้นอกระบบแล้ววิธีการแก้หนี้ของเขา คือ นำนายอำเภอ นำผู้กำกับมาคุย มาเจรจากับเจ้าหนี้นอกระบบ ตอนนี้ก็เงียบหายไป ไม่รู้ว่ายังอยู่หรือเปล่า
อีกเรื่องนึงไม่พูดถึงไม่ได้ก็ถือว่าเป็นผลงานของเขาที่เค้าอาจจะเอามาแถลงได้ก็เป็นการเรื่องสัญชาติของพี่น้องชาวเขา ซึ่งคนไทยไม่มีบัตรประชาชนอยู่หรือว่าไม่มีสัญชาติเพราะว่าอยู่ริมชายขอบ ของชายแดนก็เกือบ 1 ล้านคน ต้องมาดูว่าพอประกาศออกไปแล้ว ตั้งแต่วันประกาศจนถึงวันนี้จะทำไปได้โดยสักกี่ราย แล้วก็มีแผนงานเท่าไหร่ในแต่ละเดือนจะมีตัวชี้วัดยังไงจะเพิ่มให้ประชาชนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนกี่รายต้องดูกันต่อไปว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหนส่วนเรื่องของเศรษฐกิจ ในเชิงโครงสร้างอื่นก็ไม่ได้แก้ไม่ได้แตะอะไรมากมาย เรื่องโครงสร้างพลังงานก็ไม่ได้แตะอะไร ช่วงที่ผ่านมาก็จะลดแค่ค่าพลังงานโดยลดภาษี แล้วก็ลดไป 0.03 สตางค์ ใครเห็นก็ต้องถอนหายใจกัน
ส่วนโครงสร้างที่เป็นปัญหาหลักจริง ๆ เช่น ค่าพร้อมจ่ายสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่แตะ อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ไม่ได้แก้ ยิ่งกว่านั้น มันก็สร้างเรื่องเพิ่มเติม สร้างเรื่องที่ทำให้คนจำนวนมากเกิดความรู้สึกคุกรุ่นขึ้นมาโดยเฉพาะไปหยิบเอา MOU 2544 ขึ้นมา แล้วก็จะไปเจรจากับกัมพูชาในเรื่องของพื้นที่ที่อ่าวไทยที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน ต้องจัดสรรต้องแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่ง MOU เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยคุณทักษิณปี 2544 พอคุณทักษิณจะกลับมาสมัยคุณเศรษฐาก็ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้เท่าไหร่แต่พอคุณทักษิณกลับมาจากการถูกคุมขัง คุณฮุนเซนก็ไปหาแล้วก็หลังจากนั้นเราก็เห็นว่ามีการผลักดันเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วก็มาผลักดันมากเป็นพิเศษสมัยคุณแพทองธาร ขนาดมีการเตรียมการว่าจะมีการตั้ง JTC ขึ้นมา ก็คือคณะกรรมการร่วมไทยกัมพูชาเพื่อเจรจาในเรื่องนี้ ทีนี้ก็มีปัญหาเพราะคนส่วนมากในสังคมไทยมองว่า MOU 44 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเป็น MOU ที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ เขาไม่ไว้วางใจคุณทักษิณกับรัฐบาลเพื่อไทยในการไปเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเพราะว่าสองครอบครัวนี้ ชินวัตรกับฮุนเซนเค้าค่อนข้างสนิทสนมกัน ก็เป็นเรื่องที่ทำให้คุณสนธิออกมาคัดค้านพันธมิตรเพราะความไม่ไว้วางใจ อันนี้ก็ทำให้รัฐบาลต้องเผชิญกับพายุ อันนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นผลงานหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นผลงานผลงานเป็นผลงานที่สร้างความยากลำบากให้กับตัวเองมากพอสมควร
The Publisher: ในมุมมองของอาจารย์ ถ้าเป็นคนให้คะแนนจะให้ผ่านโปรไหม?
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต: อันนี้ก็ต้องให้ “ตก” คือ ถ้าให้คะแนนที่ทำตามนโยบายที่แถลงเร่งด่วน 10 นโยบาย เขาทำเรื่องเดียวก็คือช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง กับกระตุ้นเศรษฐกิจที่แจกเงินหมื่น ผลลัพธ์ก็ค่อนข้างจะเบาบางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แล้วก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนเรื่องอื่นก็ทำสะเปะสะปะ ส่วนเรื่องที่หาเสียงไว้ไม่ทำเพราะงั้นก็เหมือนกับอาจารย์ให้การบ้านไป แล้วไม่ตอบในสิ่งที่เป็นโจทย์ แต่ไปตอบอย่างอื่นมันก็ไม่ผ่านโปรอยู่แล้ว
The Publisher: ไม่ผ่านโปรแล้วต้องปลดหรือไม่?
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต: ไม่ผ่านโปรก็ต้องแล้วแต่ว่าคณะกรรมการประเทศไทยจะว่าอย่างไร
The Publisher: ปัจจัยอะไรที่สุ่มเสี่ยงสำหรับคุณแพทองธารบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี?
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต: มี 2 ส่วน ก็คือส่วนที่ตัวเค้าเอง กับที่เป็นแรงกดดันภายนอก ส่วนที่เป็นของคุณแพทองธารเองก็มีปัญหาอยู่ 2 เรื่องหลัก ก็คือเรื่องความสามารถทางปัญญาในการคิดตัดสินใจในการแก้ปัญหาของประเทศ ก็ดูยังมีความอ่อนด้อย เขาก็พยายามเอาทีมที่ปรึกษาเข้ามา เพียงแต่ว่าเวลาเจอปัญหานักข่าว เวลาจะต้องไปพูดแบบที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาเจอคำถามอะไร การตอบจะต่ำกว่ามาตรฐานของคนเป็นผู้นำประเทศ กัมพูชาที่เรามองเขาว่าเป็นประเทศที่เล็กกว่าเรา แต่ว่าดูแล้วก็ยังมีความเหนือกว่าอยู่ นี่ไม่ต้องไปเทียบกับนายกสิงคโปร์ มันคนละชั้นกัน
นอกจากนี้แล้วในเรื่องของวุฒิภาวะทางอารมณ์ก็มีปัญหาพอถามหรือว่าวิพากษ์วิจารณ์ก็มักจะตอบโต้ประชาชนหรือคนที่วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผู้นำประเทศไม่ควรที่จะมาทะเลาะบอกแว้งกับประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อก่อนคุณอนุทินเคยทำช่วงแรก ๆ ตอนหลังหลังจากที่ทำไปแล้วคนก็วิพากษ์วิจารณ์มาก แกก็เลิกทำไปพยายามทำตัวเป็นคนที่มีวุฒิภาวะมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นคุณแพทองธารถ้าหากว่าจำเป็นก็ไม่ต้องไปตอบโต้อาจจะทำให้คนมองว่ามีการพัฒนาทางวุฒิภาวะ แต่ถ้าทำแบบเดิม คือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางคงมีปัญหาต่อไป คงมีปัญหาทางสติปัญญาแล้วก็มีปัญหาทางด้านอารมณ์ ที่อาจจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี
ปัจจัยภายนอกก็คือแรงกดดันของ “มวลชนของคุณสนธิ” ถือเป็นกลุ่มที่น่ากลัวสำหรับรัฐบาล แค่เอาไปยื่นก็เห็นประชาชนเข้าไปร่วมมากมายพอสมควรเรียกได้ว่าเป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลต้องคิดหนักถ้าหากจะเดินหน้าต่อในเรื่องของ MOU 44 แล้วก็เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอีกอันนึงก็คือความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลเองตอนนี้เราก็จะเห็นได้ว่าพอเมื่อไทยเสนออะไรมาพรรคภูมิใจไทยก็จะขัดตลอด ไม่รู้ว่าจะอยู่กันได้นานสักเท่าไหร่หรือว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจะยอมพรรคภูมิใจไทยไป งั้นก็ยิ่งทำให้ความนิยมก็ทดถอยลงไปอีกสำหรับพรรคเพื่อไทยอันนี้ยังไม่รวมของเรื่องราวที่อยู่ในองค์กรอิสระอีกอีกหลายเรื่องที่อยู่ในกระบวนการเรียกได้ว่าปัญหามันถมเข้ามาค่อนข้างมากทีเดียว แต่ทีนี้การอยู่รอดไม่รอดรัฐบาลของประเทศไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 อย่าง คือ จะโดนองค์กรอิสระกดหรือเปล่าจากคำร้องเรียนเหมือนอย่างกรณีของคุณเศรษฐาตอนนี้ที่มันมีเค้ารางที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะที่พอจะมีน้ำหนัก อย่างเช่น เรื่องของสนามกอล์ฟอัลไพน์ เรื่องของการครอบงำ แล้วก็เรื่องของความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะทนกันอยู่ได้ต่อไปนานแค่ไหน แล้วก็ถึงจุดหนึ่งอาจจะแตกต่างซึ่งเวลาที่ผ่านมาเราก็จะเห็นได้ว่า สส.พรรคเพื่อไทยก็เริ่มหงุดหงิด แล้วก็ออกมาขู่ว่าจะยุบสภา ตอนนี้ผมคิดว่าสส. เพื่อไทยคงจะหงุดหงิดสส. ภูมิใจไทยน่าดู เพียงแต่ว่าในแง่ของแกนนำก็จะต้องอดทนอดกลั้นต่อไปมิเช่นนั้นก็รัฐบาลก็อาจจะล่มได้ พอถึงจุดหนึ่งถ้าไม่ได้ไปด้วยองค์กรอิสระเค้าอาจจะยุบสภาก็ได้ ส่วนลาออกก็คงปิดประตูก็คงไม่ลาออก
The Publisher: หมายถึงอาจจะอยู่ไม่ครบวาระ?
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต: ก็ดูท่าจะไม่ครบ นายกที่มีประสบการณ์มาตรฐานยังไม่ถึงการเป็นผู้นำ ก็ต้องเจอกับพายุที่กระหน่ำกลับมาทุกวัน ๆ แล้วก็เจอแรงกดดัน ผมคิดว่าไม่น่าจะครบ
The Publisher: แต่เขามีพ่อเป็นร่มให้อยู่?
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต: พ่อยิ่งกระตุ้นเลย ถ้าตอนนี้ยังเลือก MOU 44 คือ คนที่ไปร่วมกับคุณสนธิ คือ คนที่เป็นห่วง กังวล กลัวว่าประเทศไทยจะเสียดินแดนจะเสียเปรียบกับกัมพูชา แต่ว่าถ้าคุณทักษิณเปิดตัวการกลับมาบ่อย ๆ คนที่เกลียดคุณทักษิณที่ไม่ได้อินกับกัมพูชาก็อาจจะออกมาด้วย อันนี้ก็ต้องดูต่อไปว่าถ้าหากคุณทักษิณเข้ามาวุ่นวายมากในรัฐบาล มันก็ยิ่งเข้าไปกระตุ้นคนที่อาจจะไม่ชอบอยู่แล้ว คนที่ไม่อยากจะลงมาร่วม ถ้าทักษิณยังปฏิบัติการการเมืองต่อผนวกกับเดือนเมษาหรือว่าพฤษภาคุณยิ่งลักษณ์กลับมา อันนั้นก็จะเป็นความเสี่ยงของรัฐบาลมากขึ้นที่จะกระตุ้นให้คนเหล่านี้ออกมาร่วมในการที่จะเดินขบวนขับไล่
The Publisher: ตอนนี้ฝั่งรัฐบาลก็ดูจะปรามาสฝั่งตรงข้ามว่าจุดอย่างไรก็จุดไม่ติด?
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต: ธรรมดาเขาก็ต้องปลอบใจตัวเองไปเรื่อย ๆ เพราะว่าอารมณ์พวกนี้มันเป็นอารมณ์ของการสั่งสมไปเรื่อย ๆ แล้วก็การจุดติดยังไม่มีชนวน หลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดการขยายตัวซึ่งถ้าเราเทียบกับในอดีตที่พันธมิตรเขาขับไล่คุณทักษิณตอนแรกก็ยังไม่มีอะไร ก็เริ่มต้นจากตรงนี้ จาก 5000 จาก 10,000 จนกระทั่งมันมีประเด็นจุดที่ทำให้เกิดประเด็น ตอนนั้นก็คือเรื่องของการขายไทยคม แล้วก็ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง อันนี้ก็เหมือนกันพอมีการจุดฉนวน มีมวลชนมากพอสมควร ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่คุณสนธิยื่น คุณสนธิเขาก็เอาจริง เขาก็คงที่จะดำเนินการต่อ ในระหว่างการชุมนุมมันก็จะมีพลวัตของการชุมนุมที่มีปฏิสัมพันธ์ มีประเด็นอื่น จากประเด็น MOU เดี๋ยวพอเกิดรัฐบาลไปผลักดันเรื่องคาสิโนก็อาจจะมาเพิ่มคนที่ไม่พอใจที่เข้าไปร่วมอีก หรือตอนที่คุณยิ่งลักษณ์เข้ามาก็อาจจะมีคนเพิ่มไปอีก คือมันมีได้ตลอดเพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลอยากจะอยู่ต่อจะเป็นการดีถ้าไม่ทำเรื่องอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงต่อความรู้สึกของประชาชน ไม่ว่าเรื่องที่มันมีความอ่อนไหวอย่าง MOU ก็เก็บไว้ในลิ้นชักอย่างละรัฐบาลประยุทธ์ก็ได้ ความจริงเรื่อง MOU มันก็อยู่คู่มากับรัฐบาลตลอดนั่นแหละแต่เขาก็แกล้งทำลืม ๆ ไปว่ามันมีอันนี้อยู่ แต่พอรัฐบาลเพื่อไทยมาแล้วหยิบยกประเด็นนี้ คนก็ไม่ไว้วางใจเพราะว่าความสนิทสนมของสองครอบครัวเพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เก็บไว้ก่อนก็ได้หรือยกเลิกไปแล้ว ก็ไปทำกันใหม่ ตามที่คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นก็ควรจะทำใหม่ก็ถ้ายกเลิกได้