เป็นปฏิกิริยาของคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค หลังศาลสั่งจำคุก ศ.เกียรติคุณพิรงรอง รามสูต 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีที่ถูกบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องปมออกหนังสือเตือนมีโฆษณาแทรก ผิดกฎ “มัสต์แครี่” (Must Carry) ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
ซึ่งคุณสารียอมรับผิดหวัง และทำให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคยากขึ้น ติดตามคำสัมภาษณ์ของคุณสารีที่พูดเรื่องนี้ในรายการเที่ยงเปรี้ยงปร้าง ดำเนินรายการโดย คุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร The Publisher
The Publisher: กรณีของอาจารย์พิรงรอง ที่แพ้คดีถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปีเรื่องนี้ต้องสรุปบทเรียนในคดีนี้อย่างไรบ้าง
สารี : อย่างแรกเลยต้องบอกว่าเราผิดหวังกับคำพิพากษา ที่ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ทั้งที่เป็นคดีแรกของอาจารย์พิรงรอง ไม่เคยมีคดีอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้เราผิดหวังมาก สอง มันทำให้การทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีข้อจำกัดมากขึ้น เรียกว่าธุรกิจแทนที่ปฏิบัติตาม ก็จะใช้สิทธิฟ้องคดี ทั้งที่เรื่องนี้เกิดจากผู้บริโภคใช้สิทธิไปร้องเรียนที่อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งต่อไปยังอนุกรรมการที่รับผิดชอบของ กสทช.ซึ่งมีอาจารย์พิรงรองเป็นประธาน มีมติให้ทำหนังสือถึงทีวีดิจิทัลฯ
การเป็นเช่นนี้จะทำให้อนุกรรมการชุดต่างๆ ของ กสทช.ไม่สามารถทำหน้าที่ได้หรือไม่ เพราะจะส่งผลต่อการพิจารณาเรื่องร้องเรียน เรียกว่าอนุกรรมการไม่มีอำนาจใดๆ ต้องเข้า กสทช.ชุดใหญ่ทั้งหมด ทั้งที่ กสทช.ชุดนี้แทบไม่ได้พิจารณาวาระคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องเกี่ยวกับผู้บริโภคจะได้รับการพิจารณาได้อย่างไร อาจเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาของ กทสช. แทนที่สำนักงานจะเป็นคนดำเนินการต่อไปอาจทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่สำนักงาน และกสทช.มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเช่นกัน
The Publisher: มีปัญหาเรื่องความไม่เท่าทันของกฎหมายด้วยหรือไม่
สารี : จริง ๆ ต้องดูเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช.แต่ กสทช.ชุดนี้อาจเขียนให้เป็นอำนาจขององค์คณะ กระทั่งเรื่องกำหนดวาระก็เป็นของประธานเพียงคนเดียว การพิจารณาเรื่องต่างๆ อยู่กับประธาน จึงอาจมีข้อจำกัด แต่ที่เป็นข้อจำกัดแน่นอน เชื่อว่าจะส่งผลต่อการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้โดยภาพรวม กลัวกันไปหมด กลัวจะโดนคดี กลัวคำพิพากษาไปหมด
The Publisher: คิดว่าหลังจากนี้การทำงานของการคุ้มครองผู้บริโภคจะยากขึ้นไหม
สารี : น่าจะส่งผล เพราะว่าทำให้คนทำหน้าที่นี้กังวลในการทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่เฉพาะกรณีนี้ของ กสทช. แต่ภาพรวมการคุ้มครองผู้บริโภค การวินิจฉัยเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค
The Publisher: เท่ากับว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ จะไม่มีกฎหมายเข้าไปกำกับดูแล จัดการได้เลย เป็นช่องว่างการคุ้มครองผู้บริโภค?
สารี : กรณีเป็นการให้ข้อมูลของสำนักงาน ไม่จำเป็นต้องมีกติกา ซึ่งอันนี้เป็นจุดที่สำนักงานควรไปศึกษาหรือทบทวนในการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถทำหน้าที่กำกับให้การจ่ายเงินแล้วต้องถูกบังคับให้ดูโฆษณาอีก หรือทำโฆษณาของตัวเองเพิ่มเติมอีก
The Publisher: กสทช.ต้องเร่งออกกฎควบคุมเรื่องนี้ด้วยไหม
สารี : ไม่มีความคาดหวัง ที่พูดแบบนี้เพราะที่ผ่านมา กสทช.ชุดนี้ให้ความสำคัญเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคน้อยมาก เป็นองค์กรเดียวที่สภาองค์กรของผู้บริโภครายงานการรกระทำเข้าข่ายสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะประธานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเลย
The Publisher: เห็นทางสภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์ว่ามีการเจรจาต่อรองให้อาจารย์พิรงรอง ลาออกจาก กสทช.จะถอนฟ้องทุกคดีรายละเอียดเป็นอย่างไร
สารี : ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าว แต่เชื่อว่ามันเหมือนหมากล้อม เป็นจริงหรือไม่ ต้องดูกันไป และเป็นสิทธิของอาจารย์พิจารณาเรื่องนี้ เราเชื่อว่าอาจารย์จะอุทธรณ์ และต่อสู้เต็มที่และหวังได้รับความเป็นธรรมในชั้นอุทธรณ์
The Publisher: คนมองว่าการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์พิรงรองไปกระทบกระทั่งกับบริษัทเอกชนหรือเปล่า เพราะเคยเป็นเสียงข้างน้อยในการพิจารณาเรื่องควบรวมกิจการ อันนี้เป็นเหตุที่ทำให้บริษัทดำเนินคดีกับอาจารย์ด้วยไหม
สารี : อันนี้ต้องถามบริษัท แต่ถ้าเป็นสภาฯ เราไม่ได้เข้าข้างใคร เราไม่เคยมีที่รักมักที่ชัง เราไม่เคยเห็นด้วยกับการควบรวม ไม่ว่าจะเป็นทรูกับดีแทก หรือเอไอเอสกับ 3 BB เพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ของผู้บริโภคไม่ว่าอินเตอร์เน็ตบ้านหรือโทรศัพท์มือถือ
The Publisher: ผู้บริโภค ประชาชน คุณสารีเห็นว่าควรติดตามเรื่องเหล่านี้ ในแง่มุมไหนอย่างไร
สารี : ก็ช่วยกันติดตามและผลักดัน และอย่าคิดว่าร้องเรียนแล้ว กสทช.ทำอะไรไม่ได้ ถูกฟ้อง ก็ต้องถือว่าเป็นกรณีตัวอย่าง ลองดูว่าร้องกันมากขึ้นให้รู้ว่า กสทช.ทำอะไรไม่ได้เลย ถ้า กสทช.ทำไม่ได้ เราก็จะบอกว่าถ้าทำไม่ได้ มาร้องเรียนสภาองค์กรของผู้บริโภค เราจะช่วยติดตามหรือตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ให้คุณด้วย ก็มาได้เลยโทรมาที่ 1502