คดีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ที่บริษัท ทรู ดิจิทัล ฟ้องร้อง ในความผิดตามมาตรา 157 และศาลพิพากษาจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา ยังมีมุมที่ต้องพูดถึงต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อดูเนื้อในคำพิพากษา และท่าทีของ กสทช. นายคมสัน โพธิ์คง นักกฎหมายมหาชน ซึ่งร่วมถอดรหัสเรื่องนี้ในรายการเที่ยงเปรี้ยงปร้าง ที่มีคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร เป็นผู้ดำเนินรายการ บอกไว้เลยว่า “คนใน รักองค์กรธุรกิจมากกว่าองค์กรตัวเอง”
คมสัน : เรื่องนี้มีปัญหาที่การตีความว่า OTT หรือการให้บริการเนื้อหาเช่น ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.หรือไม่ เมื่อมีปัญหาแบบนี้ กฎหมายตามไม่ทัน ก็ต้องพูดถึงการปรับแก้กฎหมายให้ครอบคลุมถึงกิจการประเภทนี้ด้วย เพราะการกระทำที่อาจารย์พิรงรองกระทำถือเป็นมีเจตนาที่ดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ กรณีนี้คือผู้บริโภค เมื่อความหมายในแง่ของกิจการประเภทนี้ไม่รวมถึง กสทช.ต้องไปหามาตรการในเรื่องนี้
เพราะกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ มีหลายเรื่องที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่กฎหมายฉบับนี้มีมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งน่าจะตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่ทัน ดังนั้นการไปตีความเรื่องการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ให้กว้างออกไป ศาลอาจจะมองว่าเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ กลายเป็นเรื่องมองว่าอาจมีพฤติการณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่สำคัญมีข้อเท็จจริงว่ามีการนำรายงานการประชุมออกมา กล่าวถึงเช่นเรื่องล้มยักษ์ เลยทำให้ศาลมองได้ว่า กลายเป็นเรื่องเจตนากลั่นแกล้งได้ อันนี้ต้องระมัดระวังสำคัญคนที่ต้องใช้อำนาจด้วย
The Publisher : เรื่องนี้สะท้อนด้วยว่าคนใน มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ความใน ในการประชุมไปหมดเลย
คมสัน : มันเป็นทุกองค์กร ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ มีคนในที่ซื้อได้ขายได้ เพียงแต่ว่าผู้ใช้อำนาจหน้าที่ต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจหน้าที่
The Publisher : เรื่องนี้มี 2 มุมคือคนทั่วไปเห็นว่าอาจารย์พิรงรองมีเจตนาดีช่วยคุ้มครองผู้บริโภค แต่คำพิพากษาศาลก็สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานบางอย่างต้องระมัดระวังมากกว่านี้หรือเปล่า แต่คำว่าล้มยักษ์ ตลบหลัง มันมีความหมายถึงขั้นชี้ให้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องกลั่นแกล้งหรือไม่
คมสัน : มันถูกตีเจตนาอย่างนั้นได้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีเจตนา แต่การพูดออกมา มันทำให้เห็นว่า เขาอาจมีอคติกับองค์กรที่กล่าวถึง เมื่อมีอคติ พอถึงเวลาวินิจฉัยก็ถูกมองว่ามีเจตนากลั่นแกล้งหรือเปล่า เรื่องเหล่านี้ไม่มีหลักเกณฑ์กิจการประเภทนี้ การใช้อำนาจต้องดูว่ากฎหมายตามทันหรือไม่ และในเหตุผลคำพิพากษาก็เหมือนกับว่าเมื่อกฎหมายไปไม่ถึง แม้จะมีเจตนาดี แต่อาจเป็นการใช้อำนาจเกินเลย พ.ร.ป.
การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ได้
ดังนั้นการจะใช้อำนาจอะไร การแสดงออกมากับสิ่งที่อยู่ในใจ ต้องระมัดระวัง เพราะว่าในองค์กรประเภทนี้ผลประโยชน์สูง เป็นไปได้ว่าคนภายในรักองค์กรธุรกิจมากกว่ารักองค์กรตัวเอง มันเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะคนไทยเรื่องความซื่อสัตย์ในการทำหน้าที่แบบนี้เป็นปัญหา
The Publisher : เมื่อกฎหมายเป็นแบบนี้ จะมีอะไรมาคุ้มครองผู้บริโภค
คมสัน : ผมว่า เมื่อถึงจุดๆ นี้ต้องแก้ไขกฎหมายการประกอบวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ จะปล่อยให้กิจการประเภทนี้ (OTT) อิสระไม่ได้ เพราะมันเป็นกิจการประเภทสื่อที่เป็นกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง เมื่อกฎหมายคุมไม่ถึง ก็แก้กฎหมายให้ควบคุมได้ และ กสทช.ต้องหามาตรการ ไม่ใช่ปล่อยให้กิจการประเภทนี้ขึ้นมา โดยไม่คุ้มครองผู้บริโภค
ถือกฎหมายไม่ทันก็ต้องแก้กฎหมายนี่คือหลักการ กฎหมายมหาชนแม้จะมีเจตนาดี แต่ใช้อำนาจเกินไป อาจถูกมองได้ว่า ใช้อำนาจเกินขอบเขตและทำให้ผู้กระทำต้องรับผิดทางอาญาได้
The Publisher : กสทช.ที่ควรมีหน้าที่ตรงนี้ แต่กลับไม่ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งที่คนหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่าทีวีแล้ว
คมสัน :ใช่ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ดูทีวี แต่สะดวกดูแพลตฟอร์มนี้มากกว่า แต่ตัว กสทช.อาจคาดไม่ถึงว่าจะมีกรณีแบบนี้ ดังนั้นตัวสำนักงานควรจะส่งเรื่องให้พิจารณาว่าเกิดปัญหาทางกฎหมาย ควรจะแก้ไขกฎหมาย เมื่อแก้ไขกฎหมาย กสทช.ต้องยื่นเรื่องนี้ไปสู่รัฐบาล และรัฐสภา เปิดรับฟังความเห็น และออกมาตรการมา แต่ไม่ใช่ออกมาตรการเองโดยกรรมการคนใดคนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นการใช้อำนาจเกินขอบเขตกฎหมายจะเกิดปัญหาจะตกอยู่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจได้ เมื่อเกิดปัญหา กสทช.ต้องคุยกันแล้วว่าต้องแก้ปัญหาหรือไม่ ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้น แต่ไม่ดำเนินการแก้ไข ถึงแม้เรื่องความรับผิดของอาจารย์พิรงรอง จะเกิดขึ้นก็ตามแต่เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
อีกอย่างกิจการประเภทนี้ (OTT) ถ้าไม่ถูกควบคุมเลย จะมีผลต่อเรื่องความมั่นคงของชาติด้วยนะ ถ้าเป็นเรื่องที่โน้มน้าวจิตใจผู้คน ไปสู่การปกครองอีกแบบหนึ่ง นำไปสู่การบ่อนทำลายประเทศตัวเอง ผมคิดว่ากิจการประเภทนี้ต้องถูกควบคุม กสทช.ต้องรีบทำ ถ้าปล่อยไปจะเป็นปัญหาระยะยาว ยิ่งตอนนี้คนรู้ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ ยิ่งมีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดเสียหายต่อ กสทช. ประชาชน และรัฐได้
The Publisher : แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น กสทช.ขยับเลย เห็นแต่ให้สัมภาษณ์ของประธาน กสทช.บอกจะไปคัดสำเนาคำพิพากษาและจะส่ง ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาว่าอาจารย์พิรงรองผิดจริยธรรมหรือไม่
คมสัน :อันนี้คงมีปัญหาภายใน กสทช.กันแล้วละ เป็นความขัดแย้งกัน คนในองค์กรเดียวกันเขาจะไม่ทำเรื่องแบบนี้ เขาจะดูให้ดีก่อน ในแง่คำพิพากษาอย่างไร การส่งให้ตรวจสอบจริธรรมโดยไม่มีผู้ร้องเขาไม่ทำกัน อันนี้สะท้อนว่ามีปัญหาภายในกัน
The Publisher : ก่อนหน้านี้มียื่นคำร้องขอให้อาจารย์พิรงรองหยุดปฏิบัติหน้าที่ มีข้อมูลจากองค์กรของผู้บริโภคเผย กสทช.เจรจาให้อาจารย์ลาออก จะถอนทุกคดี มองปรากฎการณ์นี้อย่างไร
คมสัน : ปรากฎการณ์เช่นนี้ก็อย่างว่า กรรมการมาจากดาวคนละดวง ต่างสาขา มาอยู่ร่วมกัน อาจมีความคิดไม่ตรงกัน ผมคิดว่าตัว กสทช.ก็ละเว้นฯ เช่นกันที่จะคุ้มครองผู้บริโภค หลักการตามรัฐธรรมนูญมีอยู่ ถ้ากฎหมายไม่สอดคล้อง หรือกฎหมายไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ รัฐธรรมนูญวางหลักการแก้ไขได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาดำเนินการแบบนี้
The Publisher : หมายถึงมองว่า สิ่งที่ กสทช.ควรทำคือจะปรับปรุงกฎหมายอย่างไร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่คิดจัดการอาจารย์พิรงรอง
คมสัน : ใช่ ผมมีความเห็นอย่างนั้น เพราะมันแสดงเจตนาชัดไปว่าฉันมีความขัดแย้งภายใน อีกอย่างหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ดำเนินการทำให้กระบวนการดูแลประชาชน ดำเนินการได้ ถ้ากรณีนั้นเกิดขึ้นจากกฎหมายมีข้อบกพร่อง คิดว่า กสทช.ต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กสทช.มีอำนาจหน้าที่แบบนี้ ในหมวดอำนาจหน้าที่ของรัฐ เป็นหน้าที่ต้องดำเนินการ
The Publisher : ตอนนี้ กสทช.ทำหน้าที่ของตัวเองได้เพียงพอหรือไม่
คมสัน : ถ้ามันดี จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น นี่คือปัญหาว่าได้ทำหน้าที่ยัง กสทช.ไม่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชนในเรื่องเหล่านี้
The Publisher : ถ้าไม่กำกับดูแลแพลตฟอร์มเหล่านี้ กลายเป็นมีอำนาจมากกว่าผู้บริโภค และ กสทช.ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจกำกับ
คมสัน : ใช่ นี่คือปัญหา ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และรัฐธรรมนูญวางหลักการเรื่องการประกอบวิชาชีพสื่อ มีกระบวนการในการควบคุม เพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงรัฐ คุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิเรื่องข้อมูลข่าวสาร เมื่อมีปัญหากฎหมายมันไปไม่ถึง ก็ต้องดำเนินการให้กฎหมายไปถึงประเด็นที่เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะกฎหมายตามเทคโนโลยีไม่ทันหรอก เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายต้องติดตามสถานการณ์ของสังคม และความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสังคมต่างๆ ว่า กฎหมายที่ตนมีหน้าที่ดูแลบังคับนั้นมีช่องว่างทางกฎหมายเกิดขึ้นหรือไม่ ก่อให้เกิดปัญหากระทบสิทธิประชาชน ผู้บริโภค นอกเหนือจากผู้ประกอบการแค่ไหน ต้องไปหามาตรการป้องกันปัญหา แก้ไขเยียวยา แก้ไขกฎหมายเป็นเรื่ององค์กรผลักดันแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ให้ได้ ส่วนรัฐสภาจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถือว่าได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน
The Publisher : เรายังคาดหวังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรต่างๆ ดำเนินการเรื่องนี้ เพราะมักเกิดคำถามว่า องค์กรที่มีหน้าที่ไปเอื้อประโยชน์อะไรหรือเปล่า
คมสัน : ก็เป็นแบบนี้เยอะ มีองค์กรอิสระ มีองค์กรต่าง ๆ แต่ก็ไม่ทำหน้าที่เท่าที่ควร ไม่ได้มีแค่ กสทช.ที่เป็นปัญหาแบบนี้ กสทช.เป็นเรื่องซับซ้อนเพราะเกี่ยวกับเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ องค์กรอื่นอย่าง กกต.ผมนึกว่าเขายุบไปแล้ว หรือ ป.ป.ช.ก็ยืดยาดล่าช้า