ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาจำคุก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. จากกรณีส่งหนังสือเตือน TrueID เรื่องโฆษณาคั่นผิดกฎ Must Carry เสียงสะท้อนจากวงการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเริ่มดังขึ้น หนึ่งในนั้นคือ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” กับ สมจิตต์ นวเครือสุนทร โดยตั้งคำถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมแฉปัญหาภายในองค์กรว่า กสทช. แตกเป็นฝักฝ่าย และใช้กฎหมายเล่นงานกันเอง
“ทำดีอาจติดคุก” วงการข้าราชการระส่ำ
นพ.ประวิทย์ ตั้งข้อสังเกตว่า คดีของพิรงรอง ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพราะข้าราชการอาจเริ่มลังเลที่จะทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากกลัวถูกดำเนินคดีในภายหลัง
“เราต้องคิดหนักขึ้น คนที่ทำงานก็ต้องชั่งใจว่า ถ้าทำดีแล้วติดคุก แต่ถ้าไม่ทำก็ยังได้เงินเดือนเท่าเดิม ทางเลือกมันชัดเจน… จะให้เสี่ยงไปทำไม?”
นพ.ประวิทย์ ยังชี้ว่า หากกรณีนี้กลายเป็นบรรทัดฐาน ข้าราชการทั่วประเทศจะเลือก “รักษาตัวรอด เป็นยอดดี” เป็นอันดับแรก ความกล้าหาญในการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนจะหายไป เพราะทุกคนต้องป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงทางกฎหมาย
“ใครวางยา ใครรับเคราะห์?” ปัญหาการรับรองรายงานประชุม
อีกหนึ่งประเด็นที่ นพ.ประวิทย์ หยิบยกขึ้นมาคือ ความเข้มงวดของรายงานการประชุม ที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม
“ต้องพิจารณาให้ดีว่า ถูกวางยาหรือไม่ ก่อนเซ็นต้องระมัดระวัง ดูรายละเอียดอย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาได้”
อดีต กสทช. อธิบายว่า รายงานการประชุมเป็นเอกสารที่สำนักงาน กสทช. จัดทำขึ้น และกรรมการมีหน้าที่เพียงรับรองให้ถูกต้องเท่านั้น หากเกิดข้อผิดพลาด หรือมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็ต้องดูให้ดีว่าตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือไม่
“คุยอะไรก็ต้องระวัง” เสรีภาพในการประชุมกำลังถูกคุกคาม
อีกหนึ่งปัญหาที่ นพ.ประวิทย์ ชี้ให้เห็นคือ เสรีภาพในการอภิปรายในที่ประชุมจะหายไป เพราะคำพูดทุกคำอาจถูกนำไปตีความเป็นคดีความในภายหลัง
“ในที่ประชุม เราควรจะสามารถพูดได้เต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด แต่ถ้าต้องกลัวว่าคำพูดทุกคำจะกลายเป็นหลักฐานมัดตัว ต่อไปคงไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็นกันแล้ว เสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความเห็นก็จะหายไป”
นพ.ประวิตร ยังยกตัวอย่างกรณีที่เป็นอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช. มีนักกฎหมายบิ๊กเนม อยู่ทั้งนั้น วันนึงมีกรรมการ กสทช. ขอเทปการประชุม ทางอนุกรรมการมีมติไม่ให้ เพราะการพูดคุยต้องการเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความเห็นก่อนหาข้อสรุปร่วมกัน แต่ถ้ามีคนคอยฟังตลอดเสรีภาพตรงนี้จะหายไป ทำให้ไม่สามารถได้ดุลพินิจจากการรับฟังอย่างรอบด้าน ในครั้งนั้นจึงอนุญาตให้เฉพาะเอกสาร ไม่ให้เทปบันทึกเสียง ดังนั้นการถอดเทปรายงานการประชุม จึงไม่ใช่การแสดงเจตนาในที่ประชุมจริง อาจเป็นการใช้เทปบันทึกเสียงเป็นอาวุธทางกฎหมาย
“กสทช. กำลังแบ่งฝักฝ่าย?” ใครได้ประโยชน์จากคดีนี้
นพ.ประวิทย์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า คดีของพิรงรองอาจสะท้อนถึงความแตกแยกภายใน กสทช. โดยเฉพาะการที่คณะกรรมการที่เหลือ ไม่มีใครออกมาสนับสนุนหรือให้กำลังใจเธอเลย
“แทนที่จะปกป้องกันเอง กลับมีคนพูดว่า ‘เหลือ 6 คนก็ทำงานได้’ หรือบางคนบอกว่าจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบจริยธรรม… นี่มันช่วยกัน หรือซ้ำเติมกันแน่?”
อดีต กสทช. ตั้งคำถามว่า การใช้คดีนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของเกมทางการเมืองภายในองค์กร ที่ต้องการลดทอนอำนาจของบางฝ่าย หรือกำจัดคู่แข่งทางอำนาจใน กสทช. แปลว่ามีการเมืองภายในที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายแตกแยก แล้วพยายามส่งหลักฐาน ทำลายคู่ต่อสู้หรือเปล่า ส่วนหลักฐานที่ตัวเองอาจจะผิดเก็บไว้หรือเปล่า
“ใครได้ ใครเสีย?” กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อผู้บริโภค
เมื่อถูกถามว่า คดีนี้เป็นบทเรียนสำหรับใคร นพ.ประวิทย์ ระบุว่า ประเทศไทยต้องทบทวนการใช้กฎหมาย ว่าควรตีความตาม “เจตนารมณ์” และ “ผลประโยชน์สาธารณะ” มากกว่าการจับผิดถ้อยคำในเชิงเทคนิค
การใช้กฎหมายต้องดูเจตนารมณ์และผลสัมฤทธิ์ของสาธารณะ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ถ้าตีความตามตัวบทกฎหมายอย่างเดียว ยกบางถ้อยคำและบอกว่าไม่ถูกต้อง คงไม่เป็นธรรม เพราะอ่านหนังสือยังต้องอ่านทั้งเรื่อง ไม่ใช่แค่ย่อหน้าเดียว แล้วบอกว่าหนังสือเขียนดีหรือไม่ดี
“ผมเคารพคำพิพากษาศาล แต่หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตโดยเฉพาะนักกฎหมาย ว่าเอกสารสรุปคำพิพากษาของศาล ทำไมมีแต่ข้อเท็จจริงฝั่งโจทก์ จึงต้องรอดูคำพิพากษาตัวจริง ที่น่าจะออกหลังจากวันพิพากษา 10 วัน เพราะจำเลยเสนอหลักฐานต่อศาลอย่างครบถ้วน อยู่ที่ศาลจะรับฟังใคร โชคดีที่ยังมีศาลชั้นอุทธรณ์ – ฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะเทน้ำหนักให้ฟังโจทก์มากกว่า แต่ศาลอุทธรณ์และฎีกาอาจไม่เห็นพ้องด้วย ซึ่งเคยมีการกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาแล้ว”
จับตากลเกมสกัด “พิรงรอง” ปฏิบัติหน้าที่
นพ.ประวิทย์ ระบุว่า ต้องจับตาดูว่าหลังจากคำพิพากษาของศาล จะมีการพยายามกดดันให้ พิรงรองยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือมีความพยายาม กีดกันออกจากการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับเอกชนบางรายหรือเปล่า
“ตั้งแต่มีการฟ้องคดี จากนั้นขอหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งศาลยกฟ้อง ต่อมาขอไม่ให้เข้าพิจารณาวาระของเอกชนรายหนึ่ง ก็ถูกยกไป แต่วันนี้มีคำพิพากษาศาลแล้ว ต้องดูว่ามีความพยายามจะให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่อีกหรือไม่ หรือจะขอให้ห้ามพิจารณาวาระของเอกชนรายหนึ่งหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้นแสดงว่ามีการ ใช้คดีมาเอาชนะกันหรือเปล่า เป็นการฟ้องคดีเพื่อความยุติธรรมจริงหรือเปล่า”
นพ.ประวิทย์ บอกว่า ถ้ามีความพยายามให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ทั้งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญให้สันนิษฐานว่า เมื่อคดียังไม่สิ้นสุดให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงไม่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย กสทช. แต่ถ้ามี ความพยายามให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็คือความผิดปกติ รวมถึงความพยายามไม่ให้เข้าพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับเอกชนรายใด ก็จะเป็นอีกหนึ่งความผิดปกติ แปลว่ามีการทำเป็นขั้นเป็นตอน
“กสทช. เอื้อกลุ่มทุน?” ปัญหาเชิงโครงสร้าง
สุดท้าย นพ.ประวิทย์ กล่าวถึงข้อกังขาที่ว่า กสทช. อาจเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนมากกว่าผู้บริโภค เพราะเป็นผู้ให้ใบอนุญาตโดยตรง ทำให้ใกล้ชิดกับเอกชนมากกว่าประชาชน
“คำถามสำคัญคือ วันนี้ กสทช. กำลังปกป้องประชาชน หรือปกป้องใคร?”
นพ.ประวิทย์ เสนอว่า ต้องเปิดกระบวนการทำงานให้โปร่งใสมากขึ้น ให้ภาคประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วม โอกาสติดคุกก็จะน้อยลง เพราะโปร่งใสขั้นตอน
“ถ้าทุกอย่างตีตรากลับหมด คนก็ไม่เข้าใจ และสุดท้าย ถ้ามีคดีขึ้นมา ก็ไม่มีใครช่วยคุณได้ เพราะไม่มีใครรู้ตั้งแต่แรก”
คดี “พิรงรอง” ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นประเด็นสาธารณะ
คดีนี้ไม่ใช่เพียงชะตากรรมของใครคนหนึ่ง แต่คือภาพสะท้อนของปัญหาเชิงโครงสร้างใน กสทช. และระบบราชการไทย—ในยุคที่ “ความซื่อตรงอาจกลายเป็นบาป และการปกป้องประชาชนอาจพาเข้าสู่เรือนจำ”
คำถามที่ต้องทบทวนคือ กฎหมายควรเป็นเครื่องมือแห่งความยุติธรรมหรือกลไกที่บิดเบือนเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม? และเจ้าหน้าที่ที่ยืนหยัดเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีหลักประกันใดที่จะคุ้มครองพวกเขาจากชะตากรรมเดียวกัน?