“พริษฐ์ วัชรสินธุ” โฆษกพรรคประชาชนและเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาชน มั่นใจการเสนอร่าง รธน.ใหม่เป็นไปตามกระบวนการทุกขั้นตอน พร้อมเรียกร้อง “นายกฯ ต้องออกมาแสดงจุดยืนให้ชัดเจน” เร่งโน้มน้าวพรรคร่วมและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ลงมติเห็นชอบ
ร่าง รธน.ใหม่ เข้าใกล้ที่สุดตั้งแต่ปี 64 แต่เสี่ยงชวดโอกาสสุดท้าย
นายพริษฐ์เผยว่า การประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 13-14 ก.พ. นี้ ถือเป็นจังหวะที่เข้าใกล้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากที่สุดในรอบหลายปี และเป็นครั้งแรกที่ร่างดังกล่าวได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระประชุมหลังจาก คณะกรรมการประธานสภาฯ ปฏิเสธมาตลอดตั้งแต่ปี 2564 “หากรัฐสภาไม่รับร่างครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะทันก่อนเลือกตั้งครั้งถัดไป” นายพริษฐ์กล่าว
จี้นายกฯ แสดงบทบาท! คำแถลงรัฐบาลต้องไม่เป็นแค่ลมปาก
นายพริษฐ์ ตั้งคำถามว่า เหตุใด “นายกฯ ไม่เคยออกมาสื่อสารเรื่องนี้ต่อสาธารณะเลย” ทั้งที่การแก้ รธน. เป็น “นโยบายรัฐบาล” ซึ่งแถลงต่อรัฐสภาไปตั้งแต่ ก.ย. 2567 “ถ้านี่เป็นนโยบายรัฐบาล ทำไมถึงไม่มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีแต่ร่างของพรรคเพื่อไทย? ขณะที่นโยบายอื่นอย่าง ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ ครม. ยังจัดทำร่างเสนอเอง” เขาย้ำว่า นายกฯ ต้องรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะ การประสาน ส.ว. และพรรคร่วมรัฐบาล ให้เคลียร์ความเห็นต่างและปิดรอยร้าว
ร่างนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลวินิจฉัยแล้วว่าแก้ไขใหม่ได้
นายพริษฐ์ยืนยันว่า ร่างแก้ไข รธน. ฉบับนี้ “เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 67” ซึ่งระบุชัดว่า รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยังคงต้องผ่านการ ทำประชามติ 2 ครั้ง ตามขั้นตอนก่อนนำไปบังคับใช้ “กระบวนการนี้ไม่ได้ลดขั้นตอนประชามติแต่อย่างใด การกล่าวอ้างว่าสภาไม่มีอำนาจ หรืออาจต้องทำประชามติก่อนวาระแรก จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน”
พรรคประชาชนจัดทัพเต็มที่! 30 ผู้อภิปราย ตอบทุกข้อกังขา
เพื่อให้ร่างนี้ผ่านไปได้ พรรคประชาชน เตรียมทีมอภิปรายกว่า 30 คน โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ปัญหา รธน. ฉบับปัจจุบันที่ต้องแก้ไข 2. กระบวนการทำ รธน. ฉบับใหม่ เสนอเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100% และ 3 ตอบข้อสงสัยทุกประเด็น เพื่อคลายกังวลของสมาชิกรัฐสภา
นายพริษฐ์ชี้ว่า “เนื้อหาร่างนี้ไม่ได้เกินเลยไปจากที่รัฐสภาเคยเห็นชอบในปี 63” จึงหวังว่านายกฯ และผู้นำรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนให้สำเร็จ
ถ้าไม่ผ่าน 14 ก.พ. ต้องหาแนวทางต่อ!
หากร่าง รธน. ถูกปัดตกวันที่ 14 ก.พ. นายพริษฐ์เผยว่า พรรคประชาชนจะประเมินสถานการณ์และเดินหน้าหาทางผลักดันต่อไป เพราะนี่ เป็นนโยบายของรัฐบาลเอง “ถ้ามีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมจะอภิปรายคัดค้าน เพราะเชื่อว่าร่างนี้ทำตามกฎหมายทุกประการ”