บรรยากาศในรัฐสภาวันนี้ตึงเครียด เมื่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเผชิญกับความเห็นต่างภายในพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ออกโรงย้ำชัดว่า “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่ภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี”
ศึกสองสนามในรัฐสภา ยื่นศาลรธน. หรือเดินหน้าต่อ?
เขาระบุว่า วันนี้ (13ก.พ.68) รัฐสภามี 2 การตัดสินใจสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล คือ จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่? โดยถกเถียงกันถึงการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ (ของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย) หรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนเดินหน้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สาเหตุที่พรรคประชาชน ไม่เห็นด้วย กับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วย 3 เหตุผลหลัก คือ ประชามติสองรอบสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 อยู่แล้ว หากรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้ง ก่อนและหลังการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น การส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยใหม่จึงไม่จำเป็น ,รัฐสภาเคยส่งเรื่องให้ศาลพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง ปี 2564 ศาลวินิจฉัยชัดเจนแล้วว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านประชามติ และปี 2567 ศาลปฏิเสธรับคำร้องโดยให้เหตุผลว่าคำวินิจฉัยเดิมยังมีผลอยู่ และนายกรัฐมนตรีควรจัดการเอง ไม่ใช่ผลักภาระให้ศาล พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคของนายกรัฐมนตรี เคยแสดงจุดยืนว่าวิธีการทำประชามติสองรอบเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่นายกฯ ได้พยายามคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้วหรือยัง? เพราะล่าสุด หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าการหารือในพรรคร่วมยังไม่เกิดขึ้น “ผมได้เตรียมข้อมูลสนับสนุนแนวทางนี้เพื่อนำเสนอในที่ประชุม แต่กลับไม่มีโอกาสอภิปรายเนื่องจากที่ประชุมถูกปิดก่อน”
ส่วนประเด็นที่สองที่รัฐสภาพิจารณาวันนี้คือ จะเดินหน้าประชุมต่อหรือยุติการพิจารณา? เมื่อที่ประชุมไม่ได้ส่งเรื่องให้ศาลรธน. คำถามต่อมาคือ รัฐสภาจะเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่? พรรคประชาชนยืนยัน ต้องเดินหน้า ไม่วอล์คเอาท์ ไม่หลบหนี เพราะเปิดพื้นที่ให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายเต็มที่ สร้างความเข้าใจต่อประชาชนถึงเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอธิบายว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างไร และเห็นว่าเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นและคลายข้อกังวล หากมีข้อสงสัยด้านกฎหมาย การอภิปรายในสภาคือเวทีที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่การปิดประชุมหรือวอล์คเอาท์ “การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ ไม่ได้หมายความว่าต้องลงมติทันที แต่เป็นโอกาสในการพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน”
“นายกฯ ต้องนำ ไม่ใช่แค่รอ”
การอภิปรายในรัฐสภาวันนี้สะท้อนชัดเจนว่า แม้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่พรรคร่วมรัฐบาลเองกลับขัดแย้งกัน ทั้งในเชิงกฎหมายและจุดยืนทางการเมือง พริษฐ์ ชี้ว่าทางออกไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขึ้นอยู่กับ “ภาวะผู้นำ” ของนายกรัฐมนตรี จะอ้างไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของรัฐสภาหรือพรรคการเมือง ประเทศไทยใช้ระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี นายกฯ ได้ตำแหน่งจากเสียงข้างมากของรัฐสภา และต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่แถลงไว้ด้วย อีกทั้งนายกฯ ต้องมีบทบาทหลักในการจัดการขัดแย้งภายในพรรคร่วม หากต้องการผลักดันนโยบายให้สำเร็จ นายกฯ ต้อง บริหารความเห็นต่างภายในรัฐบาลเอง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎร “นายกฯ ต้องไม่ปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจกันเองโดยไร้ทิศทาง เพราะถ้าไม่มีการหารือจริงจัง สุดท้ายแล้ว รัฐธรรมนูญใหม่ที่รัฐบาลแถลงไว้ ก็จะล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม”
พริษฐ์ ทิ้งท้ายว่า คืนนี้จนถึงเช้าพรุ่งนี้ (14 ก.พ.68) นายกรัฐมนตรีต้องทำทุกวิถีทางให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลเข้าประชุม และร่วมกันอภิปรายอย่างเต็มที่ แทนที่จะหลบเลี่ยงหรือปัดให้เป็นเรื่องของศาล ถ้านายกฯ ต้องการให้รัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นจริง การแสดงภาวะผู้นำในการจัดการพรรคร่วมรัฐบาลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้