กรณี พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ตามมาตรา 157 กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเธอมีบทบาทในการปกป้องสิทธิผู้บริโภค ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนจึงนำไปสู่การถูกลงโทษ?
สภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) ได้สรุป คำถามสำคัญที่สังคมควรรู้ เพื่อทำความเข้าใจเบื้องหลังคดีนี้ ในรูปแบบถามตอบ โดยสรุปดังนี้
- คดีนี้เกี่ยวกับอะไร?
พิรงรอง รามสูต ถูกฟ้องฐาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 เนื่องจากเธอทำหน้าที่ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ โดยได้นำเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ ทรูไอดี ซึ่งมีการแทรกโฆษณาในช่องฟรีทีวี เข้าสู่ที่ประชุม
ที่ประชุม มีมติ 3 ข้อ โดยไม่มีกรรมการคนใดคัดค้าน ได้แก่
1 ให้สำนักงานศึกษาการให้บริการของแพลตฟอร์ม OTT และแพลตฟอร์มอื่นที่คล้ายกัน
2 เชิญ ทรูไอดีและแพลตฟอร์มอื่น มาชี้แจง
3 แจ้ง ผู้รับใบอนุญาตทั้งหมด 127 ราย ให้ปฏิบัติตาม ประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มโทรทัศน์ต้องนำช่องทีวีที่ภาครัฐกำหนดไปออกอากาศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ข้อสังเกต: ประเด็นที่ถูกพิจารณา ไม่ใช่การกำกับ OTT แต่เป็นเรื่อง ทรูไอดีให้บริการรวบรวมช่องรายการไปเผยแพร่โดยไม่ขอใบอนุญาต ซึ่งอาจขัดต่อประกาศ กสทช.
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของพิรงรองกลับถูกมองว่า เป็นการกำกับ OTT โดยไม่มีอำนาจ ซึ่งกลายเป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้
- กสทช. มีอำนาจกำกับ OTT หรือไม่?
- มีอำนาจกำกับ OTT ตามมติ กสทช. 2 ครั้ง
เมษายน 2560 – กำหนดให้ OTT เป็น กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ตามนิยามของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่
สิงหาคม 2566 – ยืนยันให้ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการแพร่ภาพ-แพร่เสียง อยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช.
ข้อสังเกต: แม้จะมีมติยืนยันอำนาจกำกับ OTT แต่ ร่างประกาศ OTT กลับถูกแช่แข็ง โดยไม่มีการประกาศใช้งาน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมต้องจับตาว่า เหตุใด กสทช. ยังไม่ออกหลักเกณฑ์ชัดเจน?
- รายงานการประชุมเท็จจริงหรือไม่?
ใครเป็นผู้จัดทำรายงานการประชุม?
สำนักงาน กสทช. เป็นผู้จัดทำรายงานการประชุม และเสนอต่อที่ประชุมให้รับรอง ซึ่งเป็นกระบวนการปกติของทุกองค์กร มีการแก้ไขรายงานการประชุมหรือไม่?
พบว่า ไม่มีการแก้ไขมติที่ประชุม แต่ข้อสังเกตคือ โจทก์มีเอกสารและเทปเสียงบันทึกการประชุมทั้งหมด รวมถึงช่วงที่ปิดประชุมแล้ว ซึ่งโดยปกติเอกสารการประชุมที่สามารถขอได้ ควรเป็นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาทเท่านั้น
คำถามที่สังคมควรถาม
เหตุใดเอกสารภายในของ กสทช. จึงรั่วไหลไปอยู่กับโจทก์?
สำนักงาน กสทช. ได้มีการสอบสวนเรื่องข้อมูลรั่วไหลนี้หรือไม่?
- คดีนี้กระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่?
การลงโทษตามมาตรา 157 ด้วยการจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา อาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่กล้าดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเกรงจะถูกดำเนินคดีแบบเดียวกัน สถานการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่ “การนิ่งดูดาย” ของหน่วยงานรัฐ ทำให้ประชาชนถูกเอาเปรียบจากภาคธุรกิจโดยไม่มีผู้คุ้มครอง
- ข้อสังเกตสำคัญที่สังคมควรตั้งคำถาม
- ทรูไอดีมีโฆษณาแทรกช่องฟรีทีวีจริงหรือไม่?
- ทรูไอดีรวบรวมช่องฟรีทีวีโดยไม่ได้รับอนุญาตจริงหรือไม่?
- ทำไมผู้ให้บริการบางรายต้องขออนุญาตจาก กสทช. แต่ทรูไอดีไม่ต้อง?
- เหตุใดสำนักงาน กสทช. จึงดำเนินคดีต่อกรรมการ กสทช. แทนที่จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการ?
- คดีพิรงรอง: แค่เรื่องบุคคล หรือปัญหาทั้งระบบ?
- คดีนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของบุคคล แต่เป็น ตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนถึงปัญหาในระบบกำกับดูแลของ กสทช.
- หากผู้ที่ปกป้องผู้บริโภคต้องถูกลงโทษเช่นนี้ ต่อไปจะยังมีใครกล้าต่อกรกับอำนาจธุรกิจขนาดใหญ่หรือไม่?
อ่านข้อเท็จจริงฉบับเต็มได้ที่
เว็บไซต์: TCC
เฟซบุ๊ก: Facebook
X (Twitter): TCC Thailand