ปมร้อนการเมืองสะเทือนถึงองคมนตรี ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ออกมาเปิดโปงกระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย และกรณีนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติและพัวพันกับขบวนการล็อบบีทางการเมือง
ดร.ณฐพร ให้สัมภาษณ์ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” ว่า เขาได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ชี้ให้เห็นว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางอำนาจ มีการแต่งตั้งโยกย้าย รองผู้ว่าฯ-ผู้ว่าฯ-ผู้ตรวจราชการฯ แบบไร้หลักคุณธรรม ซึ่งในหนังสือดังกล่าวมีการระบุว่า นายอนุทิน ร่วมกับนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่งตั้งข้าราชการโดยไม่ยึดหลักความสามารถ แต่มุ่งเน้น “สายสัมพันธ์ทางการเมือง” กับพรรคภูมิใจไทย โดยได้ให้รายละเอียดลงลึกถึงตัวบุคคลที่ถูกจัดวางไปรอรับตำแหน่งผู้ว่าฯ ชี้ให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ทางการเมืองใกล้ชิดทั้งนายอนุทิน และแกนนำพรรคภูมิใจไทยหลายคน
“อนุทิน” กับข้อหาโยกย้ายข้ามเส้นคุณธรรม ตั้งพวกร้องครองมหาดไทย
”เรื่องการเลือกผู้ว่าฯ ไม่มียุคไหน สมัยไหนทำเรื่องที่เลวร้ายแบบนี้ ถือเป็นความชั่วที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการแต่งตั้งคนของตัวเองไปเป็นรองผู้ว่าฯ หลังจากนั้นไม่ถึงเดือนมีการนำเรื่องเข้า ครม. กำหนดวิธีการคัดเลือกแบบหลอก ๆ หลายคนถูกฟ้องศาลฯ ที่น่ารังเกียจที่สุดคือ บุคคลที่กำหนดตัวให้เป็นผู้ว่าฯ คือนางสมหมาย พรมมี เป็นภรรยานายกอบจ.นครสวรรค์ คุณคิดว่าจะปกครองกันอย่างไร ถือเป็นการทำลายความเป็นกลางทางการเมือง เป็นการใช้ตำแหน่งและอำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อระบบราชการอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ล่วงละเมิดพระราชวินิจฉัยและระเบียบแบบแผนการบริหารราชการอย่างร้ายแรงที่สุด จำเป็นต้องให้องคมนตรีได้พิจารณา กราบบังคมทูลฯ ว่าการกระทำแบบมันไม่ชอบ เพื่อให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง“
กังขา “สุชาติ” ขาดคุณสมบัติ ผ่านการสรรหาจนได้เป็น ปธ.ป.ป.ช.
อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ ดร.ณฐพร นำเสนอต่อองคมนตรี คือปัญหาคุณสมบัติของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยขณะสมัครเป็น ป.ป.ช.นายสุชาติ พ้นตำแหน่ง สนช.ไม่ถึง 10 ปี มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังพบว่ามีการกรอกข้อมูลเท็จในใบสมัครเข้ารับการสรรหาระบุว่า ”เป็นขรก.ตุลาการตั้งแต่ตำแหน่งผู้พิพากษา และดำรงตำแหน่งต่าง ๆ จนได้รับเงินเดือนชั้น 4 ในตำอแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากาาป็นเวลา 8 ปี“ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ไม่เคยมีประกาศกำหนดตำแหน่งและเทียบตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าเป็นตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาตามที่มีการกรอกข้อมูล สะท้อนว่านายสุชาติไม่ได้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์“
ดร.ณฐพร ยังกล่าวหาไปถึงนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ (อดีต)ประธานศาลฎีกา ซึ่งทำหน้าที่ประธานสรรหาในขณะนั้น เป็นผู้พิจารณาว่านายสุชาติไม่ขาดคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพราะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของนางสาวจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีต สนช.รุ่นเดียวกับนายสุชาติ ที่เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไสลเกษ ซึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหาชุดนี้ด้วย กลับพิจารณาว่าบุคคลทั้งสองมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริง พยานหลักฐานและกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน แต่กลับตัดสินไม่เหมือนกัน ทำไมยกเว้นให้นายสุชาติ
”คลิปฉาว“ เปิดโปงเกมล็อบบี้ สุชาติ-วันนอร์
นอกจากนี้ยังมีคลิปฉาวที่เป็นบทสนทนาระหว่างนายสุชาติ กับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการล็อบบี้เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกยื่นถอดถอนตามคำร้องของพล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.ด้วย เพราะหลังการสนทนาดังกล่าวก็มีการยุติเรื่องโดยให้เหตุผลว่า ”ไม่มีมูลเพียงพอ“ ทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ
”ผมอยากให้ที่ประชุมองคมนตรีได้พิจารณาว่าจะแก้ไขสิ่งที่ผิดอย่างไร โดยมีความเชื่อมั่นว่าองคมนตรีทั้ง 19 ท่าน จะทำหน้าที่แก้ปัญหาให้ประชาชน และประเทศชาติ แก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง เพราะถ้าผิดตามบทบัญญัติ รธน.มาตรา 3 ที่ทำไปเป็นโมฆะทั้งหมด และต้องดำเนินการกับผู้กระทำผิดด้วย โดยหลังจากนี้จะเดินหน้าร้องจริยธรรมและดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาต่อไปด้วย”