รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ประโยชน์ของวัคซีนได้รับการพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนอย่างไม่ต้องสงสัย สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปากมดลูกไปได้อย่างมาก”
“งานวิจัยจากประเทศสวีเดน ศึกษาในกลุ่มประชากรกว่า 1.67 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่า incidence rate ratio 0.12 (95% CI, 0.00 to 0.34) หากฉีดก่อนอายุ 17 ปี และ 0.47 (95% CI, 0.27 to 0.75) หากฉีดในช่วงอายุ 17-30 ปี”
“เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine ปี 2020”
“มะเร็งปากมดลูก” คืออะไร
มะเร็งปากมดลูก คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นในเซลล์ปากมดลูก ซึ่งอยู่บริเวณช่วงล่างของมดลูกและเชื่อมต่อกับช่องคลอด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) ซึ่งมักจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ซึ่งโรคนี้สามารถตรวจคัดครองมะเร็งปากมดลูก และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
ในระยะแรกที่เป็นโรคนี้ มักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่ภายหลัง หากเป็นหนักขึ้น ร่างกายจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือ ตกขาวผิดปกติ และมีอาการปวดร่วมด้วย
ปัจจัยเสี่ยง
- การมีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ อย่างเช่น โรคติดเชื้อคลามีเดีย (chlamydia) โรคหนองในแท้ (gonorrhea) โรคซิฟิลิส (syphilis) และโรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ (HIV/AIDS)
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะหากระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
- สูบบุหรี่

การป้องกัน
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ เริ่มจากแนะนำให้ลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน และงดสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV (HPV vaccine) ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกและรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้การป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูง ยังสามารถป้องกันมะเร็งปากช่องคลอด ช่องคลอด ทวารหนัก และมะเร็งช่องปากได้อีกด้วย โดยทั่วไปแนะนำให้ฉีด HPV วัคซีน ที่ช่วงอายุ 11 หรือ 12 ปี ถึงอายุ 26 ปี และได้ผลดีที่สุดในคนที่ไม่เคยได้รับเชื้อหรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว แพทย์ก็ยังแนะนำให้ไปตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีทั้งวิธีการ ตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) และวิธีตรวจ เอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA) สำหรับการตรวจแปปสเมียร์ แพทย์จะทำการป้ายเซลล์จากปากมดลูกเพื่อเก็บไปตรวจหาความผิดปกติ หรือปัจจุบันใช้วิธี Liquid-base cytology (LBC) เป็นการเก็บเซลล์จากปากมดลูกใส่ในของเหลวเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ซึ่งให้ผลตรวจที่ชัดเจนมากขึ้น การตรวจแปปสเมียร์ หรือ LBC จะสามารถตรวจหาได้ทั้งเซลล์มะเร็ง และเซลล์ที่มีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการตรวจเชื้อ HPV DNA สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจคัดกรองมากขึ้น
ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์สำหรับแนวทางการตรวจคัดกรองมดลูก โดยทั่วไปจะแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมดลูกในหญิงที่อายุ 21 ปี ขึ้นไป
อ้างอิงข้อมูล : HPV Vaccination and the Risk of Invasive Cervical Cancer. NEJM. 20 September 2025. , medpark hospital