สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International – TI) ได้ประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index – CPI) ประจำปี 2567 ซึ่งประเทศไทยได้ 34 คะแนน อยู่อันดับที่ 107 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอันดับที่ 5 ในอาเซียน คะแนนนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ยังสะท้อนว่าปัญหาทุจริตยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศ
จากรายงานพบว่า คะแนนที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่ภาครัฐมีความจริงจังมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย ลดปัญหาสินบนในการอนุมัติ/อนุญาต และพัฒนาระบบบริการภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดช่องโหว่ในการทุจริต อย่างไรก็ตาม ปัญหาสินบนในภาคธุรกิจยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข
ศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจต้านสินบน: ตัวช่วยภาคเอกชนรับมือกฎหมายทุจริต
ป.ป.ช. ได้จัดตั้ง ศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนิติบุคคลเพื่อป้องกันการให้สินบน (ANTI – BRIBERY ADVISORY SERVICE: ABAS) ซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการป้องกันสินบน พร้อมกับกำหนด 8 หลักการสำคัญ ที่องค์กรธุรกิจควรนำไปปรับใช้เพื่อป้องกันการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ
เอกสาร ป.ป.ช. ระบุ 8 หลักการป้องกันการให้สินบนภาคธุรกิจ ประกอบด้วย ผู้นำองค์กรต้องชัดเจนเรื่องการต่อต้านสินบน ระดับผู้บริหารสูงสุด เช่น CEO หรือคณะกรรมการบริษัท ต้องประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านสินบน และปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใส,ธุรกิจต้องประเมินความเสี่ยงเรื่องสินบน บริษัทต้องวิเคราะห์โอกาสและจุดเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การให้สินบน เพื่อออกแบบมาตรการควบคุมที่เหมาะสม,มีมาตรการควบคุมกรณีเสี่ยงสูง เช่น ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริจาค ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน ป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการติดสินบน,มาตรการต้องครอบคลุมคู่ค้าและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต้องกำหนดเงื่อนไขให้พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เช่น ตัวแทน หรือที่ปรึกษา ปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านสินบน ,ระบบบัญชีต้องโปร่งใส ห้ามมีบันทึกทางการเงินนอกระบบ และต้องมีการตรวจสอบบัญชีอย่างอิสระ,นโยบายทรัพยากรบุคคลต้องสอดคล้องกับการต่อต้านสินบน ตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัคร จ่ายค่าตอบแทน ไปจนถึงการเลื่อนตำแหน่ง ต้องสะท้อนนโยบายต้านทุจริต,ต้องมีช่องทางให้พนักงานแจ้งเบาะแส ควรมีระบบรับเรื่องร้องเรียนที่ปลอดภัย และมีการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และ องค์กรต้องทบทวนมาตรการต้านสินบนเป็นระยะ ต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงมาตรการตามสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง
ภาคธุรกิจต้องร่วมมือ: “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย” ต่อการทุจริต
ป.ป.ช. เน้นย้ำว่า การป้องกันสินบนไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคธุรกิจต้องมีมาตรการควบคุมภายในที่ชัดเจน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นการเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ช. 1205
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: www.nacc.go.th