ขณะที่หลายประเทศในเอเชียเริ่ม “รื้อโครงสร้างข้าราชการ” อย่างจริงจัง ลดขนาดภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดภาระทางการคลัง ไทยยังคงติดกับดักระบบราชการเทอะทะ งบประมาณส่วนใหญ่หมดไปกับเงินเดือนข้าราชการ สะท้อนปัญหาที่รัฐบาลไม่กล้าแตะต้อง!
เวียดนาม – รื้อใหญ่ ปลดข้าราชการนับแสน
รัฐบาลเวียดนามเพิ่งประกาศ “ผ่าตัดใหญ่” ปรับลดข้าราชการกว่า 100,000 ตำแหน่ง พร้อมยุบรวมกระทรวงเพื่อลดความซ้ำซ้อน และตัดทิ้งองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพ นี่คือการปฏิรูปที่รัฐบาลกล้าหาญ เพราะพวกเขารู้ว่า “รัฐเทอะทะ = ประเทศถอยหลัง”
กระทรวงหลายแห่งถูกควบรวมเพื่อลดภาระ เช่น กระทรวงการคลังถูกจับรวมกับกระทรวงการวางแผน รัฐบาลยุบเลิกสื่อของรัฐที่ซ้ำซ้อน หยุดใช้งบประมาณโฆษณาเกินจำเป็น ตั้งเป้าลดงบประมาณข้าราชการ และนำเงินไปพัฒนาประเทศแทน
Nguyen Hoa Binh รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ถึงกับกล่าวว่า
“เราต้องไม่ปล่อยให้หน่วยงานรัฐกลายเป็นที่หลบภัยของคนขี้เกียจ”
นี่คือสัญญาณชัดเจนว่า เวียดนามกำลังเอาจริง!
ฮ่องกง – ลดข้าราชการ ทุ่มงบ AI
ฮ่องกงไม่ใช่ประเทศที่มีข้าราชการมากเกินจำเป็น แต่พวกเขายังกล้าที่จะลดขนาดระบบราชการ! รัฐบาลประกาศแผนตัด 10,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2027 เป้าหมายชัดเจน – ลดภาระงบประมาณ แล้วโยกเงินไปลงทุนกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยมีแผนลดขนาดข้าราชการลง 2% ของทั้งหมด พร้อมทั้งทุ่มเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง พัฒนา AI และระบบอัตโนมัติ เพื่อลดการใช้แรงงาน เพิ่มการใช้เทคโนโลยี
ไทย… ระบบราชการใหญ่เทอะทะ แต่ไม่มีใครกล้าแตะ!
ตรงกันข้ามกับเวียดนามและฮ่องกง ระบบราชการไทยยังคงเป็น “ปัจจัยฉุดรั้ง” การพัฒนาประเทศ ด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อน ล้าสมัย ใช้งบประมาณมหาศาลไปกับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยไม่มีแผนปฏิรูประยะยาว งบประมาณประจำ (เงินเดือน-สวัสดิการข้าราชการ) กินส่วนแบ่งราว 70% ของงบประมาณทั้งหมด หน่วยงานรัฐมีอำนาจทับซ้อน ทำให้การดำเนินงานล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ และระบบราชการกลายเป็นที่พึ่งของกลุ่มผลประโยชน์ มากกว่าจะทำเพื่อประชาชน
หากนำโมเดลของเวียดนามมาใช้ “ข้าราชการที่ขี้เกียจจะไม่มีที่ซ่อน” แต่คำถามคือ รัฐบาลไทยกล้าพอไหม?
ทำไมไทย “ลดข้าราชการ” ไม่ได้?
- ระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึก การเป็นข้าราชการยังถูกมองว่าเป็น “อาชีพตลอดชีวิต” และหลายตำแหน่งได้มาเพราะเส้นสาย ไม่ใช่ความสามารถ
- นักการเมืองไม่กล้าแตะ เพราะพึ่งพาฐานเสียงข้าราชการ ไม่กล้าปรับลด กลัวเสียคะแนนนิยม
- กลไกภายในต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ข้าราชการระดับสูงมักไม่สนับสนุนการลดจำนวน เพราะกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์
“รัฐอุ้ยอ้าย” เท่ากับประเทศเดินช้า
การที่รัฐบาลไทยไม่กล้าปรับลดข้าราชการ ไม่เพียงแต่สร้างภาระงบประมาณมหาศาล แต่ยังทำให้ประเทศพลาดโอกาสพัฒนา ขณะที่เวียดนามและฮ่องกงปรับลดข้าราชการเพื่อ “ปลดล็อกศักยภาพประเทศ” ไทยกลับยังปล่อยให้รัฐอุ้ยอ้าย ยึดติดกับระบบราชการแบบเก่า
ถ้าไทยลดข้าราชการลงเพียง 10% สามารถนำงบประมาณไปลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น ถ้าปรับลดหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน การให้บริการประชาชนจะเร็วขึ้น ถ้าหยุดใช้งบประมาณมหาศาลเลี้ยงข้าราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ เงินจะถูกใช้เพื่อพัฒนาประเทศแทน
ถึงเวลาหรือยัง ที่ไทยต้องรื้อระบบราชการ?!
เวียดนามกล้าทำ ฮ่องกงกล้าทำ แล้วทำไมไทยจะทำไม่ได้? หรือเราจะปล่อยให้ประเทศจมอยู่กับภาระข้าราชการที่ใหญ่เกินตัว ไปตราบกัลปาวสาน?