การเปลี่ยนผ่านของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังเป็นที่จับตามอง เมื่อกรรมการ 3 คนกำลังจะหมดวาระ และการสรรหาคนใหม่เข้าไปแทนที่กำลังเป็นประเด็นร้อน โดยเฉพาะเมื่ออำนาจการเลือกอยู่ในมือของวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งถูกมองว่ามี “สีน้ำเงิน” คุมเกมอยู่
คำถามสำคัญคือ ป.ป.ช. ชุดใหม่จะเป็นอิสระจริง หรือจะกลายเป็นกลไกของอำนาจทางการเมือง? ท่ามกลางคดีสำคัญที่รอการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชั้น 14 ป่วยทิพย์ ที่เกี่ยวพันโดยตรงถึง “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลชุดปัจจุบัน นี่คือหัวข้อที่ ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร
เขาเปิดประเด็นว่า ป.ป.ช.ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองของใคร ไม่ต้องห่วงเรื่องความล่าช้าในทางคดีหลังเกิดการเปลี่ยนผ่านกรรมการ ป.ป.ช. เพราะคดีใหญ่ไม่ใช่ของใครคนเดียว แต่ป.ป.ช.ทั้งคณะต้องรับผิดชอบร่วมกัน เนื่องจากเป็นการไต่สวนในรูปแบบคณะ ไม่ใช่ทำงานแบบพระเอกคนเดียว แม้จะมีการเปลี่ยนตัวกรรมการ ป.ป.ช. แต่กระบวนการไต่สวนต้องเดินหน้าต่อไป ผู้ที่เข้ามาใหม่จะต้องสวมบทบาทของคนเก่าและศึกษาสำนวนโดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า
“อย่าปล่อยให้ ป.ป.ช. ตกต่ำจนประชาชนไม่ไว้ใจ”
ความกังวลต่อความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อครหาหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการทำคดีล่าช้า หรือแม้แต่คดีที่หมดอายุความไปโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน รวมถึงความไม่ไว้วางใจที่มีต่อ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. หลังปรากฏคลิปสนทนากับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ส่อไปในทำนองต่อรองให้ยุติคำร้องจริยธรรมร้ายแรงที่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีต ผบ.ตร. ยื่นเรื่องไว้ และสุดท้ายก็มีการยุติคำร้องไป โดยทั้งคู่ถูกยื่นตรวจสอบจริยธรรมร้ายแรงด้วย
“ทุกองค์กรมีช่วงตกต่ำ ถ้าป.ป.ช. ไม่พิสูจน์ตัวเองว่าทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ก็จะเสียความเชื่อมั่นจากประชาชน ป.ป.ช.ต้องยึดโยงกับประชาชน ถ้าไม่ต้องการถูกครหา ต้องทำให้เห็นว่าการทำงานโปร่งใส และเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้”
“ป.ป.ช. ต้องไม่อยู่ใน ‘หลุมดำ’ ของกระบวนการยุติธรรม”
ศ.พิเศษ วิชา แนะนำด้วยว่า ป.ป.ช. ต้องไม่ปล่อยให้เกิดความคลุมเครือ หรือทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นหลุมดำของระบบยุติธรรม เพราะในขณะนี้กระบวนการยุติธรรมก็ถูกตั้งคำถามมากเรื่องธรรมาภิบาล “ไม่มีทางที่จะอยู่ในหลุมดำแบบนี้ได้ ทุกคนที่อยู่ในป.ป.ช.เข้าใจดี โดยเฉพาะประธานป.ป.ช.ที่จะต้องรับมือในการสร้างความเชื่อถือให้กับประชาชน เราต้องเชื่อว่าคนทำงานในที่สุดแล้วก็ต้องไป แต่องค์กรยังอยู่ ป.ป.ช.ไม่ได้มีแค่กรรมการ 9 คน ฐานสำคัญคือเจ้าหน้าที่หรือพนักงานไต่สวนที่รับผิดชอบคดี เขาคือเสาหลักที่ทำให้องค์กรยังอยู่”
“ป.ป.ช. จะปฏิรูปตัวเอง ไม่ต้องรอให้ถูกเด็ดหัว?”
ในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ ศ.พิเศษ วิชา ได้ฝากข้อคิดให้กับกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันและชุดใหม่ว่า “อย่ารอให้ถูกปฏิรูปจากภายนอก แต่ต้องปฏิรูปตัวเองก่อน ถ้า ป.ป.ช. ไม่เข้มแข็ง ประชาชนจะไม่ไว้ใจ สุดท้ายอำนาจจากภายนอกจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงองค์กร”
เขายกตัวอย่างว่า มีช่วงหนึ่งที่มีเสียงเรียกร้องให้ตัดอำนาจ ป.ป.ช. เพราะถูกมองว่ามีอำนาจมากเกินไป “เราได้แต่หัวเราะกัน เพราะรู้ดีว่า…ไม่มีใครเด็ดหัว ป.ป.ช.ได้ นอกจากตัวเราเอง จึงต้องกวาดบ้านให้เรียบร้อย ถ้าป.ป.ช.เป็นที่ไว้วางใจของสื่อมวลชน และประชาชน พวกเขาจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.”