ในโลกแห่งแสงและเงาที่ถูกร้อยเรียงเป็นเรื่องราว คุณเกรซ มหาดำรงค์กุล บุตรีได้ถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่าของบิดา ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล ศิลปินผู้รังสรรค์โลกแห่งภาพถ่าย ผู้ซึ่งก้าวข้ามขีดจำกัดแห่งศิลปะ จนได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสิบช่างภาพยอดเยี่ยมของโลก
จากความทรงจำอันแจ่มชัดของคุณเกรซนั้น คุณชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล มิใช่เพียงช่างภาพผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ แต่เป็นศิลปินผู้มีหัวใจรักในศิลปะการถ่ายภาพ สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นดั่งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าไว้กับสังคมไทย
ด้วยความรักอันลึกซึ้งในการถ่ายภาพ คุณชัยโรจน์ได้บันทึกทุกห้วงเวลาแห่งชีวิตผ่านเลนส์กล้องคู่ใจ ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์อันงดงามแห่งธรรมชาติ วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของผู้คน หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว จนภาพถ่ายเหล่านั้นกลายเป็นดั่งส่วนหนึ่งของชีวิต

“ท่านเป็นผู้ที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดอย่างยิ่ง” คุณเกรซกล่าว “ท่านจะใช้เวลาอยู่กับกล้องคู่ใจเสมอ คอยดูแลรักษา สอนการวัดแสง และถ่ายทอดเทคนิคการถ่ายภาพให้แก่ลูกๆ ท่านมักจะย้ำเสมอว่า ‘ภาพหนึ่งภาพ สามารถเล่าเรื่องราวได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีคำบรรยาย’ และนี่คือแนวทางในการถ่ายภาพของท่าน”
จากแนวคิดนี้เองที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบ “Pictorial Art” ที่ทุกภาพสื่อถึงเรื่องราวในตัวมันเอง ภาพถ่ายของชัยโรจน์ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกวัฒนธรรม ผู้คนในอิริยาบถต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่กำลังจะเลือนหายไป เช่น การบวชลูกแก้ว การแข่งเกวียน หนังตะลุง และศิลปะการแสดงต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อไป ซึ่งทุกภาพ ทุกแสงเงา จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวและความหมาย เป็นที่มาของรางวัลมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบช่างภาพยอดเยี่ยมของโลก
คุณชัยโรจน์ยังได้รับโอกาสอันทรงเกียรติในการบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทย เช่น งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และภาพเรือสุพรรณหงส์ในงานประชุมเอเปค 2003 รวมถึงการได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นเวลา 2 ปี เพื่อจัดทำหนังสือภาพ 72 พรรษา
“ภาพชุดสมเด็จพระพันปีหลวงนี้ คุณชัยโรจน์บอกว่า สักวันหนึ่งเราจะจัดนิทรรศการแสดงผลงานชุดนี้” คุณเกรซกล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ “ภาพชุดนี้เป็นภาพที่พ่อภูมิใจที่สุด”
ด้วยผลงานภาพถ่ายนับหมื่นภาพ รวมถึงภาพที่ได้รับรางวัลมากมาย คุณชัยโรจน์จึงมีความปรารถนาที่จะมอบผลงานทั้งหมดให้แก่หอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและชื่นชมศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตในแง่มุมต่างๆ ผ่านภาพถ่ายของท่าน