สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2568 โดยมี 3 แนวทางหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้ ค่าไฟพุ่งแตะ 5.16 บาทต่อหน่วย หรือคงที่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ตามแต่ละกรณี
“ปรับขึ้น หรือ คงที่?” – 3 แนวทางค่าไฟที่ประชาชนต้องจับตา
กรณีที่ 1: ค่าไฟสูงสุด 5.16 บาท/หน่วย (+24%)
• ปรับค่าเอฟที 137.39 สตางค์/หน่วย
• ชดเชยต้นทุนคงค้างของ กฟผ. และ รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน คืนทั้งหมด
• ค่าไฟเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจาก 4.15 → 5.16 บาท/หน่วย
กรณีที่ 2: ค่าไฟ 4.95 บาท/หน่วย (+19%)
• ปรับค่าเอฟที 116.37 สตางค์/หน่วย
• ชดเชยต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด แต่ไม่รวมส่วนต่างราคาก๊าซ
• ค่าไฟเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจาก 4.15 → 4.95 บาท/หน่วย
กรณีที่ 3: ตรึงค่าไฟเท่าเดิม 4.15 บาท/หน่วย
• ค่าเอฟทีคงที่ 36.72 สตางค์/หน่วย
• ทยอยชำระคืนหนี้ กฟผ. แทนการจ่ายทั้งหมดในครั้งเดียว
• ประชาชนไม่ต้องแบกรับภาระเพิ่มในทันที
ต้นทุนค่าไฟพุ่งเพราะอะไร?
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ กกพ. ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น มาจาก หนี้ค่าเชื้อเพลิงที่สะสมกว่า 3 ปี จากช่วงพลังงานแพง,ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ,ต้นทุนพลังงานที่ยังสูงขึ้นจากก๊าซ LNG และถ่านหินนำเข้า และฤดูแล้งทำให้พลังงานน้ำผลิตได้น้อยลง
ยังไม่มีข้อสรุป ต้องฟังเสียงประชาชน
กกพ. เปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าไฟฟ้า ตั้งแต่ 11-24 มีนาคม 2568 ผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ก่อนสรุปและประกาศอัตราค่าไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ
ประชาชนสามารถช่วยลดค่าไฟได้ด้วย 5 ป.
- ปลด ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้
- ปิด ดับไฟทุกครั้งหลังใช้งาน
- ปรับ แอร์ที่ 26 องศาเซลเซียส
- เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5
- ปลูก ต้นไม้เพื่อลดอุณหภูมิในบ้าน