“ถ้าคุณมั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้อง คุณต้องกล้าเผชิญหน้ากับการตรวจสอบ” – อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดใจในรายการของ WATCHDOG กับ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ถึงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดนายกฯ ในระบบรัฐสภาของไทย จึงไม่เห็นความสำคัญของการตรวจสอบจากสภาเท่าที่ควร
“ผมแปลกใจมาก เราใช้ระบบรัฐสภามากว่า 50 ปี แต่ทำไมยังไม่เข้าใจว่า นายกฯ ต้องมาสภาทุกสัปดาห์เพื่อตอบกระทู้จากตัวแทนของประชาชน มันคือกลไกสำคัญที่ทำให้คนมีอำนาจไม่ลุแก่อำนาจ เพื่อนชาวอังกฤษบอกกับผมว่า นายกฯ ต้องไปให้ตัวแทนประชาชน ‘จิกหัวด่า’ ทุกสัปดาห์ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในไทย กลายเป็นว่านายกฯ มาตอบกระทู้สด กลับกลายเป็นข่าวฮือฮา”
อภิปรายฯ ครั้งแรกหลังเลือกตั้ง
ฝ่ายค้านต้องพิสูจน์ ไม่ใช่แค่พูดลอย ๆ
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ชี้ว่า ฝ่ายค้านมีภาระหนักในการพิสูจน์ข้อกล่าวหา เพราะญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมักเริ่มต้นด้วยข้อกล่าวหารุนแรง เช่น “ไร้ประสิทธิภาพ” หรือ “ขาดภาวะผู้นำ” แต่หากไม่มีข้อมูลและเหตุผลที่ชัดเจน ก็กลายเป็นแค่การกล่าวหาโดยไร้น้ำหนัก
“ฝ่ายค้านต้องชี้ให้เห็นว่า นายกฯ บริหารผิดพลาดอย่างไร ล้มเหลวตรงไหน ถ้าจั่วหัวแรง ก็ต้องมีหลักฐานให้หนักแน่นกว่าเดิม ไม่ใช่พูดลอย ๆ เพราะจะทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้านเอง”
โดยเฉพาะประเด็นที่ฝ่ายค้านชูว่า นายกฯ อยู่ภายใต้บงการของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ชี้ว่า ฝ่ายค้านต้องมีหลักฐานว่าทักษิณมีบทบาทต่อการตัดสินใจของนายกฯ จริง
“การพูดถึงทักษิณอภิปรายได้ แต่ไม่ใช่การอภิปรายทักษิณ ต้องอภิปรายว่านายกฯ ทำผิดอย่างไร ถ้าความผิดนั้นเกี่ยวข้องกับทักษิณ ก็ต้องบรรยายข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่ทำให้ทักษิณกลายเป็นเป้าหมายหลักของการอภิปราย”
นายกฯ ต้องตอบเอง ไม่ใช่แค่ ‘อ่านโพย’
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ย้ำว่า นายกฯ ควรอยู่ในที่ประชุมตลอดการอภิปราย เพราะหากใช้วิธี “อ่านโพย” หรือให้รัฐมนตรีคนอื่นตอบแทนโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน จะสะท้อนถึงการขาดความสามารถในการรับมือกับการตรวจสอบ
“ถ้าคุณเป็นนายกฯ ที่ศึกษาและเอาใจใส่งานของรัฐบาลโดยรวม คุณต้องสามารถตอบข้อซักถามได้ ไม่ใช่แค่อ่านโพย หรือโยนให้คนอื่นพูดแทน”
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า บางประเด็นอาจให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรงเป็นผู้ตอบได้ แต่ต้องอยู่บนหลักเกณฑ์ว่า นายกฯ ไม่สามารถรู้ลึกทุกเรื่อง แต่หากเป็นประเด็นที่นายกฯ ควรรู้และควรใส่ใจ แต่กลับหลีกเลี่ยงที่จะตอบ นั่นเป็นปัญหา
อภิปรายฯ จะจบลงอย่างไร?
เมื่อถูกถามว่าฝ่ายค้านจะได้อะไรจากการอภิปรายครั้งนี้ แม้สุดท้ายแล้วจะแพ้โหวตในสภา อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ตอบว่า สิ่งสำคัญคือการทำให้ประชาชนเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรัฐบาล
“รัฐบาลยังไงก็ชนะโหวตในสภา แต่ถ้าฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดี ประชาชนจะได้ข้อมูล และเห็นว่ามีปัญหาอะไรในการบริหารประเทศ แม้ผลโหวตจะเหมือนเดิม แต่แรงกดดันทางการเมืองไม่เหมือนเดิม”
ในขณะเดียวกัน อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์มองว่าการอภิปรายครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ของฝ่ายค้านเองด้วย ว่าจะสามารถทำงานตรวจสอบได้จริงจังแค่ไหน
“ประชาชนยังไม่มั่นใจว่าฝ่ายค้านทำงานเต็มที่หรือเปล่า ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ฝ่ายค้านต้องพิสูจน์ตัวเอง ว่าจะทำหน้าที่เข้มข้นเหมือนสมัยตรวจสอบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์หรือไม่”
ฝ่ายค้านยังไงก็แพ้เสียงข้างมาก แต่ทำไมต้องอภิปราย?
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์กล่าวถึงประเด็นที่หลายคนมองว่าฝ่ายค้านอภิปรายไปก็แพ้อยู่ดี เพราะพรรครัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่สิ่งที่ผิดปกติคือ การที่ ส.ส. หลายพรรคประกาศล่วงหน้าว่าจะโหวตไว้วางใจนายกฯ ตั้งแต่ยังไม่เห็นข้อมูลของฝ่ายค้าน
“ก่อนหน้านี้ นักการเมืองจะพูดว่า ‘ขอฟังข้อมูลก่อน’ แต่รอบนี้ยังไม่เห็นข้อมูลเลย กลับประกาศล่วงหน้าว่าจะโหวตให้ ก็แปลกอยู่”
เขาย้ำว่า การทำงานของสภาฯ ต้องให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง ไม่ใช่แค่เป็นพิธีกรรมทางการเมืองที่ต้องจบลงตามเกมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สุดท้ายแล้ว ผลการอภิปรายจะมีความหมายแค่ไหน?
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์มองว่า แม้ฝ่ายค้านจะแพ้เสียงโหวต แต่หากอภิปรายได้ดี เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ก็จะทำให้เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาล
“ถ้าฝ่ายค้านสามารถชี้ให้เห็นถึงการบริหารที่ผิดพลาด ความล้มเหลว หรือการทุจริตได้อย่างชัดเจน รัฐบาลก็ต้องออกมาตอบคำถามจากประชาชน แม้จะผ่านการลงมติ แต่แรงกดดันจากประชาชนยังคงอยู่”
สำหรับ สส. 4 คนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งก่อนหน้านี้มีท่าทีไม่สนับสนุนนายกฯ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์บอกว่า ยังไม่แน่ใจว่าพรรคจะมีท่าทีอย่างไร แต่หากมี ส.ส. ตัดสินใจโหวตในทิศทางที่แตกต่างจากมติพรรค ก็ต้องพร้อมรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น
ฝากถึงรัฐบาลและฝ่ายค้าน
อย่าให้การอภิปรายเป็นแค่พิธีกรรม
ท้ายสุด อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ย้ำว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกระบวนการสำคัญของประชาธิปไตย และไม่ควรถูกทำให้เป็นเพียง “เกมทางการเมือง” ที่ฝ่ายหนึ่งใช้เพื่อโจมตี และอีกฝ่ายใช้เพื่อปกป้องโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง
“อยากให้ประชาชนเห็นว่ากระบวนการนี้มีคุณค่า ไม่ใช่แค่พิธีกรรมทางการเมืองที่ทำไปเพื่อให้จบ ๆ ไป แต่ต้องเป็นเวทีที่ทำให้รัฐบาลถูกตรวจสอบ และฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”