เสียงกดดันจากนานาชาติถาโถมเข้าใส่รัฐบาลไทยอีกครั้ง เมื่อ สภายุโรปลงมติประณามไทยเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน และ สหรัฐฯ ประกาศมาตรการจำกัดวีซ่าสำหรับเจ้าหน้าที่ไทย ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว
นี่เป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศที่ไทยถูกบีบ หรือไทยเดินพลาดเองจนเปิดช่องให้โดนกดดัน?
สภายุโรปลงมติ 482 เสียง ประณามไทย: เครื่องมือกดดันทางการเมือง?
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 สภายุโรปลงมติ 482 ต่อ 57 เสียง “ประณาม” ไทย กรณีส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนกลับไปยังจีน โดยอ้างว่า “ละเมิดสิทธิมนุษยชน”
แต่มติดังกล่าวมีผลจริงแค่ไหน?
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ เปิดเผยกับ The Publisher ว่า “มติดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้โดยตรง แต่เป็นเครื่องมือกดดันทางการเมือง”
“สภายุโรปมีสมาชิกกว่า 720 คน จาก 27 ประเทศ แต่ไม่มีอำนาจโดยตรงในการบังคับให้แต่ละประเทศดำเนินการ เว้นแต่จะออกกฎหมายร่วมกัน การลงมติลักษณะนี้เป็นการใช้ ‘เกมกดดัน’ เพื่อให้ไทยเปลี่ยนนโยบาย โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน”
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ไทยกำลังถูกใช้เป็น ‘หมากตัวหนึ่ง’ บนกระดานเกมของยุโรป
ทำไมไทยถึงถูกโจมตี? แค่เรื่องอุยกูร์จริงหรือ?
มติของสภายุโรปครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องอุยกูร์ แต่ยังพ่วงประเด็น มาตรา 112 ของไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
คำถามคือ ยุโรปเข้าใจบริบทไทยจริงหรือ? หรือกำลังใช้หลักประชาธิปไตยแบบตะวันตก กดดันประเทศที่มีโครงสร้างการปกครองต่างกัน?
รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่า “เสียงข้างมากในยุโรปมีแนวคิดเสรีนิยม ซึ่งมองประชาธิปไตยในกรอบตะวันตกเป็นหลัก และมักใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือกดดัน ในหลายกรณี สภายุโรปขาดความเข้าใจบริบทไทย เช่น กรณีอุยกูร์ ฝั่งยุโรปเองก็ไม่ได้รับผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ทั้งหมด แต่กลับกดดันไทยให้แบกรับปัญหา ขณะที่เรื่องมาตรา 112 พวกเขามองจากกรอบเสรีนิยม โดยไม่เข้าใจบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย”
ไทยควรยอมจำนน หรือสู้กลับในเกมการทูต?
รศ.ดร.ปณิธาน เตือนว่า ไทยต้องตอบโต้ แต่ไม่ใช่แบบดันทุรัง ต้องเล่นเกมให้เป็น
“เราต้องฟังเสียงสภายุโรป แต่ไม่ใช่การยอมจำนน ต้องสื่อสารให้รอบด้านขึ้น เพื่อให้ยุโรปเข้าใจไทยมากขึ้น”
โดยเสนอ 2 วิธีหลักในการต่อสู้ คือ เจาะกลุ่มสภายุโรปโดยตรง ส่งนักการทูตและตัวแทนรัฐบาลเข้าไปให้ข้อมูล อธิบายบริบทไทย โดยเฉพาะเรื่องที่ยุโรปอาจได้รับข้อมูลไม่รอบด้านนอกจากนี้ควรใช้เกมการค้าเป็นเครื่องต่อรอง หากประเทศไหนกดดันไทยอย่างไม่เป็นธรรม ไทยควร “ลดระดับความสัมพันธ์” กับประเทศนั้น พิจารณาใช้มาตรการกดดันกลับ เช่น ทบทวนเงื่อนไขการค้า การเข้าเมือง และการพำนักในไทย
สหรัฐฯ ผสมโรง! ประกาศคว่ำบาตรวีซ่าเจ้าหน้าที่ไทย
สหรัฐฯ ไม่เพียงแต่เห็นด้วยกับยุโรป ยังประกาศมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งตัวอุยกูร์กลับจีน โดย “จำกัดการออกวีซ่า” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยบางราย
“รัฐบาลไทยต้องมองว่า การกดดันครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ และต้องตอบโต้โดยรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด”
โลกล้อมไทย หรือไทยพลาดเอง?
ทางหนึ่ง ไทยอาจกำลังเผชิญแรงกดดันจากขั้วอำนาจตะวันตก ที่ต้องการบีบให้ไทยเลือกข้างระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อีกทางหนึ่ง ไทยอาจเดินเกมพลาดเอง ด้วยการส่งตัวอุยกูร์กลับจีน โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบทางการทูตล่วงหน้า หรือทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการใช้ ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นข้ออ้าง ในเกมการเมืองที่แท้จริงคือ ‘การค้า’ และ ‘อิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์’ ?
สุดท้ายแล้ว ไทยจะตั้งรับ หรือเดินเกมรุก? คำตอบขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะเลือก “เล่นเกม” หรือ “เป็นเบี้ยในเกม” แต่ที่น่าเสียดายคือ รัฐบาลภายใต้การนำของ” แพทองธาร “อาจเมาหมัดกับการเมืองภายในประเทศ จนเดินหลงทางในการเมืองระหว่างประเทศ